นายกฯ ไทยได้เข้าหารือกับ “บริษัทเวชภัณฑ์ระดับโลก” ที่ให้ความสนใจที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนประเทศไทยให้เป็น “ฮับสุขภาพและการแพทย์” ในภูมิภาคนี้ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมใหม่ ๆ” ในด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนทั่วโลก รวมถึงสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี
อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนที่จะไปถึงการผลักดันให้ “ไทยเป็นประเทศนวัตกรรม” นั้น กรณีนี้ก็มี “มุมสะท้อน” จาก “กูรูนวัตกรรมระดับโลก” อย่าง ดร.สตีเวน ดี. เอปพิงเกอร์ (Prof.Steven D. Eppinger) ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมของ MIT Sloan School of Management ที่เสนอแนะเรื่องนี้ผ่านเวที “Human Intreraction for Systemetic Innovation” ที่ทาง มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการพลิกอนาคตการแพทย์ไทย ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ…
ผ่านแนวคิด Systematic Framework
เพื่อให้เกิด “นิเวศนวัตกรรมของไทย”
“สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน”…
ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวนั้น ดร.สตีเวน ได้พูดถึงความสำคัญของกระบวนการคิดแบบ Systemic Thinking ว่า…ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสามารถส่วนบุคคลหรือพรสวรรค์แต่กำเนิด แต่ปลูกฝังและบ่มเพาะได้ด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งการที่ประเทศไทยตระหนักว่าต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตและยั่งยืน เป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่อย่างไรก็ดี นวัตกรรมนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ และนวัตกรรมที่สร้างออกมาก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ทุกชิ้น ดังนั้นการที่จะเพิ่มโอกาสสำเร็จนั้น… ประเทศไทยต้องตอบโจทย์ให้ครบทั้ง 3 ข้อก่อน

สำหรับ “โจทย์ 3 ข้อ” ที่ไทยจะต้องตอบให้ได้ก่อนนี้ กูรูจาก MIT ได้มีการแจกแจงไว้ว่า…จะประกอบด้วย1.ต้องตอบความต้องการของคน (People desirable) 2.โซลูชั่นต้องใช้งานได้จริง (Solution feasible) 3.ต้องนำมาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ (Business viable)โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องอาศัยการฟังและเข้าใจความต้องการของคนอย่างแท้จริง จึงจะเกิดนวัตกรรมที่ดีขึ้นมา ดังนั้นส่วนตัวแล้วอยากเสนอให้ไทยได้นำเอา แนวคิด Systematic Innovation through Human-Centered Design มาใช้ ที่เป็นกระบวนการคิดแบบ “Design thinking” เพื่อให้เกิด “นิเวศนวัตกรรมใหม่ ๆ” ของไทย
“กระบวนการนี้จะเน้นให้ความสำคัญกับคน ผ่านการฟัง การสังเกต แล้วนำไปผ่านกระบวนการคิด และทดสอบแนวคิด เพื่อนำมาปรับเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของคน รวมถึงเพื่อให้เกิดเป็นโซลูชั่นที่ดีขึ้น และตอบโจทย์เชิงธุรกิจได้ด้วย” …เป็นคำแนะนำจากทางกูรูด้านการพัฒนานวัตกรรมระดับโลก
ทางกูรูคนเดิมยังกล่าวไว้อีกว่า… โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม เช่น กรณีของ Nest ที่วางตลาดผลิตภัณฑ์ Digital Thermostat สำหรับใช้ควบคุมอุณหภูมิในบ้านแบบดิจิทัล ซึ่งจากเดิมก็มีใช้กันอยู่ทั่วไปในตลาดสหรัฐ แต่ทางผู้ผลิตได้มีการเพิ่มเติมนวัตกรรมใหม่เข้าไป เพิ่มเติมคือ เทคโนโลยีตรวจจับคนในบ้าน ที่นอกจากจะช่วยปรับอุณหภูมิที่คนในบ้านชอบแล้ว การตรวจจับว่ามีหรือไม่มีคนอยู่ในบ้านยังลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะลดการใช้พลังงานอีกด้วย ผู้ใช้จึงพร้อมจ่ายในราคาที่สูงกว่า…
นี่คือตัวอย่าง “ต่อยอดนวัตกรรมเดิม”
เสริมนวัตกรรมใหม่ “ช่วยเพิ่มมูลค่า”
ดร.สตีเวน ยังขยายความเรื่องนี้ว่า…ตัวอย่างข้างต้นเกิดจากการนำแนวคิด Systematic Innovation through Human-Centered Design มาใช้ โดยสิ่งสำคัญแรกจากกรณีศึกษานี้คือ การหาความต้องการให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่รับรู้อยู่ทั่วไปและเห็นได้ชัด หรือเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องการ แต่ยังไม่ได้ถูกตอบสนอง ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม แต่เกิดขึ้นได้จากการรับฟังอย่างเข้าใจและสังเกต นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างที่ถูกสอบถามก็ต้องเป็นกลุ่มคนที่หลากหลาย เพราะการคุยกับคนแบบเดียว หรือมีจำนวนน้อยเกินไป จะไม่สามารถค้นหาความต้องการที่แท้จริงได้ และควรเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ผู้ใช้จริงเท่านั้น
ขณะที่สิ่งสำคัญส่วนที่สอง คือ การได้มาซึ่งโซลูชั่น โดย ดร.สตีเวน พูดถึงเรื่องนี้ว่า…ขั้นตอนนี้ต้องผ่านการนำเสนอความคิดที่หลากหลายจากคนหลายแขนง เช่น วิศวกร นักออกแบบ ฝ่ายการตลาดและการขาย เพื่อให้ได้แนวคิดและไอเดียรอบด้าน ก่อนคัดเลือกและจัดกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ จากนั้นจึงแปลโซลูชั่นให้ออกมาเป็น prototype แล้วนำไป test เพื่อรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ก่อนนำกลับไปปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้ฟังดูเหมือนเป็นกระบวนการง่าย ๆ แต่ต้องใช้การเปลี่ยนทัศนคติ ความกล้าที่ก้าวออกจากความเคยชิน และความอดทน ไม่น้อยเลย …และนี่ก็เป็น “มุมมองน่าคิด”
“น่าพินิจ” จากกูรูนวัตกรรมระดับโลก
ที่ “ไทยจะต้องเร่งถอดรหัส…ตีโจทย์”
เพื่อ “อัปเกรดไทยเป็นฮับนวัตกรรม”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์