โดยปกติผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้แต่มักจะไม่แสดงอาการ ส่วนมากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราสามารถที่จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกาย มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงออกไปได้ ทำให้การติดเชื้อคงอยู่นาน (persistent HPV) และสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์จนเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ซึ่งการติดเชื้อเอชพีวีในลักษณะคงอยู่นานหรือ Persistent HPV นี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 95 % โดยจะใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี หลังการติดเชื้อจนกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามถือเป็นโชคดีที่เราสามารถรู้ถึงสาเหตุที่ก่อมะเร็งปากมดลูก ทำให้เราสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองและรักษาโรคตั้งแต่ระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง

เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มประชากรที่เหมาะสมกับการฉีดวัคซีนเอชพีวี ได้แก่

                1.  กลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีนเอชพีวี คือ ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ได้แก่ เด็กหญิง (วัคซีนชนิด 2, 4 หรือ 9 สายพันธุ์) และเด็กชาย (วัคซีนชนิด 4 หรือ 9 สายพันธุ์) ที่อายุ 11-12 ปี และหากไม่ได้รับวัคซีนในช่วงอายุดังกล่าวสามารถฉีดในช่วงอายุ 13-26 ปีได้

                2.  การฉีดวัคซีนในผู้หญิงและผู้ชายอายุ 27-45 ปี ให้พิจารณาฉีดวัคซีนเป็นราย ๆ ไป ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรได้รับคำอธิบายถึงประโยชน์ที่จะได้รับและอาจไม่เทียบเท่ากับการฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี 

                3.  ผู้หญิงที่เคยเป็น หรือกำลังมีหูดหงอนไก่ หรือรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก หรือมีผลตรวจคัดกรองทางเซลล์วิทยาปากมดลูกผิดปกติ หรือตรวจพบเชื้อเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูง ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีเช่นเดียวกับสตรีทั่วไป

                4.  ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือตรวจหาเชื้อเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงก่อนเริ่มฉีดวัคซีน

ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่มีใช้ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิดหลัก ตามจำนวนของสายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีน ได้แก่ วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (bivalent) ประกอบด้วย แอนติเจนของเชื้อเอชพีวี 16 และ 18 วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (quadrivalent) ประกอบด้วยแอนติเจนของเชื้อเอชพีวี 6, 11, 16 และ 18 และวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (nonavalent) ประกอบด้วยแอนติเจนของเชื้อเอชพีวี 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

ข้อบ่งห้ามของการฉีดวัคซีนเอชพีวี ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์และคนที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง (severe anaphylactic reaction) หรือการฉีดเข็มก่อนแล้วทำให้มีอาการแพ้อย่างรุนแรง วัคซีนชนิด 4 และ 9 สายพันธุ์ มีส่วนประกอบของยีสต์โปรตีน หากมีประวัติแพ้ยีสต์ ควรหลีกเลี่ยงการฉีด ถ้ามีภาวะเจ็บป่วยปานกลางหรือรุนแรงจะมีไข้หรือไม่ก็ตาม ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน

วัคซีนเอชพีวีจัดกลุ่มความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ในระดับบี (Pregnancy  category B) ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า การฉีดวัคซีน มีผลเสียต่อภาวะเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์ (เช่น การแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด) หรือมีผลต่อทารก (เช่น ทารกพิการหรือตัวเล็ก) แต่อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าสตรีตั้งครรภ์ไม่ควรรับการฉีดวัคซีน หากได้เริ่มฉีดไปแล้ว
ให้หยุดฉีดวัคซีนเข็มที่เหลือ ไม่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง และให้กลับมาฉีดต่อหลังคลอดจนครบ 3 เข็ม สตรีที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ไม่มีผลกระทบหรือผลเสียต่อทารกที่ดูดนมมารดา วัคซีนเอชพีวีสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนอื่นที่จำเป็นต้องฉีดในช่วงอายุนั้นได้อย่างปลอดภัย เช่น วัคซีน tetanus, acellular pertussis, diphtheria และ inactivated poliovirus vaccine เป็นต้น โดยไม่รบกวนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันซึ่งกันและกัน

แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกของกระทรวงสาธารณสุขมีการกำหนดนโยบายให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีแก่เด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อายุ 11-12 ปี โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน

อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่ได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีครบแล้วยังคงต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของการตรวจคัดกรองต่อไป หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการหาความรู้ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute  และ  Line : NCI รู้สู้มะเร็ง

ข้อมูลจาก พญ.ปานวาด รัตนศรีทอง แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่