ประชาชนคนไทย ตั้งแต่คนหาเช้ากินค่ำ ไปจนถึงเศรษฐีพันล้าน แทบจะทุกสาขาอาชีพ ล้วนต้องตกเป็นเหยื่อ “อาชญา กรรมออนไลน์” ไม่เว้นแต่ละวัน ดังที่เห็นเป็นข่าวตามสื่อสารมวลชนทุกแขนง ส่งผลให้รัฐบาลต้องงัดมาตรการออกมาสกัด “โจรออนไลน์” แต่ดูเหมือนว่าปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด!! แถมล่าสุดต้องงัดไม้ตาย “ลับมีด” แก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 หวังฟัน “โจรออนไลน์” ให้อยู่หมัด เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก.ไซเบอร์ ได้ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปีดูเหมือนว่า ดาบอาญาสิทธิ์เล่มนี้จะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน “โจรออนไลน์” ที่มีการพัฒนากลวิธีหลอกลวงที่ “แยบยล”และ “ไฮเทค” มากขึ้น ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงได้เสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
สกัดโจรออนไลน์
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) บอกว่า พ.ร.ก.ฉบับแก้ไข ทางกระทรวงดีอีเอสจะเร่งเสนอ ครม. ให้ทันในการประชุมวันที่ 13 ม.ค.นี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ รัฐบาลอยากให้กฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อช่วยปราบปรามพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้เร็วขึ้น ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ ครม.แล้ว ภายใน 3 วันต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อประกาศแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที
ทั้งนี้ในส่วนที่ธนาคารและผู้ใช้บริการมือถือ (โอเปอเรเตอร์) ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายนั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยกแบบประเทศสิงคโปร์มาทั้งหมดในเรื่องการรับผิดชอบจะมีขอบเขตและรายละเอียดว่าหากปล่อยละเลยให้เกิดจะต้องรับผิดชอบอย่างไร ที่ผ่านมาในการประชุม AOC1441 รวมถึงประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทางธนาคารและโอเปอเรเตอร์ให้ความร่วมมือดี แต่เราอยากให้มากกว่านี้ อยากให้เข้มข้นขึ้น
“ปัจจุบันการซื้อและขายซิมโทรศัพท์มือถือนั้น ถือว่าค่อนข้างที่จะทำได้ง่ายเกินไป คนหนึ่งหรือนิติบุคคลหนึ่งซื้อทีแสนสองแสนเบอร์ บางทีก็ขายลอตใหญ่ ต้องประสานกับ กสทช.ด้วย ที่มีอำนาจกำกับดูแลโอเปอเรเตอร์ ต้องรู้ว่าซิมที่ขายไปเป็นของใคร ทุกวันนี้ใครเดินไปซื้อซิมตามแผงลอยก็ยังมี หรือซื้อออนไลน์ก็ได้ การส่งเอสเอ็มเอสต่อไปต้องมีชื่อผู้ส่ง และผู้ส่งต้องลงทะเบียนกับ เช่น เอไอเอส, ทรู หรือเอ็นที พร้อมทั้งตรวจสอบข้อความด้วยว่ามีเนื้อหาที่เป็นภัยหรือไม่”
หรืออย่างการเปิดบัญชีทางธนาคารต้องช่วยตรวจสอบด้วยว่าไม่ใช่เป็นบัญชีม้า ไม่ปล่อยให้เปิดบัญชีง่ายเกินไป ต้องยืนยันตัวตนที่เข้มงวดกว่าเดิม ในบางประเทศการเปิดบัญชีต้องรอการตรวจสอบ 3-4 วัน กว่าจะอนุญาตให้เปิด เรื่องบัญชีม้า ตอนนี้พบว่ามีการจ้างเปิดบัญชีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงสั่งให้ต้องพัฒนาเชื่อมต่อระบบให้สามารถติดตามได้ เช่น การเชื่อมข้อมูลระหว่างธนาคารและ ปปง. เพื่อให้สามารถตรวจจับและปิดบัญชีต้องสงสัยได้พร้อมกันในกรณีที่พบการกระทำผิด
ต้องร่วมรับความเสียหาย
รัฐบาลคาดหวังว่าเมื่อ พ.ร.ก.ฉบับแก้ไขประกาศใช้ จะช่วยให้การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถบังคับใช้มาตรการเพิ่มเติม เช่น การลงทะเบียนผู้ส่งเอสเอ็มเอส การควบคุมการขายซิม รวมถึงการตรวจจับข้อความที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีแผนจะปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมในระยะยาว เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คอมพ์ เพื่อให้แก้ปัญหาได้ยั่งยืน
“ในเรื่องความรับผิดชอบของธนาคารและค่ายมือถือ เช่น หากเหยื่อกดผิดหรือทำพลาดด้วยความประมาท หรือความโลภเอง กรณีแบบนี้ฝ่ายธนาคารหรือค่ายมือถืออาจไม่ได้รับผิดชอบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดพลาดจากผู้ใช้งานเอง แต่ถ้าเป็นกรณีที่เกิดจากระบบไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีเพียงพอ ผู้ให้บริการก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายใหม่นี้” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดีอีเอส ระบุ

ต้องดูแลเงินคริปโตฯ
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเงินคริปโตฯ นั้น ได้มีการเสนอให้มีมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้ซื้อขายได้เฉพาะผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับการลงทะเบียนถูกต้อง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงาน เช่น ก.ล.ต. รวมถึงกำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำผิดหรือหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนด ต้องควบคุมระบบการเงินดิจิทัลที่มิจฉาชีพเปลี่ยนการโอนเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล เช่น คริปโตเคอร์เรนซี เป็นต้น เพราะทุกวันนี้เมื่อเหยื่อถูกหลอกโอนเข้าบัญชีม้าแถวหนึ่งแถวสองแล้ว มิจฉาชีพจะโอนเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล เพื่อให้ตรวจสอบได้ยากมากยิ่งขึ้น หรือให้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามเส้นทางได้ยากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างเข้มงวด
ชี้ร่าง กม.เป็นความลับ
อย่างไรก็ตามการแก้ไข พ.ร.ก.ฉบับนี้ ถือเป็นความลับสุดยอด แม้แต่ร่างกฎหมาย ทางภาคเอกชน ธนาคารและค่ายมือถือ ก็ยังไม่เคยได้เห็น จนภาคเอกชนมีความกังวลว่าเมื่อกฎหมายออกมาประกาศใช้แล้ว เอกชนจะสามารถปฏิบัติตาม หรือจะสามารถแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บรรดาภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่มองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ที่สำคัญ!! ยังมีประเด็นที่น่ากังวลไม่น้อยทีเดียว และยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพ ทางโอเปอเรเตอร์ก็ให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และทำกันมานานแล้ว และพ.ร.ก.ฉบับแรก ก็ทำงานร่วมกันกับภาครัฐ ทางฝั่งเอกชนก็เป็นผู้ผลักดันด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าประเทศไทยขาดเจ้าภาพ หมายความว่าเวลาจะไประงับบัญชีหรือปิดเบอร์ ก่อนมีพระราชกำหนดฉบับแรก ค่อนข้างช้า เมื่อกฎหมายออกมาทำให้เรื่องของการปิดเว็บไซต์ ปิดลิงก์ รวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่าทัน
ตอนนี้ทางกระทรวงดีอีเอสกำลังแก้ไขกฎหมาย แต่ปัญหาคือ เอกชนยังไม่เห็นเนื้อหา และเชื่อว่าทุกฝ่ายยังไม่มีใครเห็นนอกจากหน่วยงานรัฐ แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย รัฐ เอกชน และประชาชน แต่ยังไม่มีใครรู้รายละเอียดนอกจากรัฐ ซึ่งปกติร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชกำหนดควรจะเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่ในกรณีนี้ไม่มีใครรู้ในรายละเอียด
เช่นเดียวกับประเด็นที่บอกว่าโอเปอเรเตอร์กับธนาคารต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วม ก็เข้าใจว่าสังคมรับรู้เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ บริบทอาจจะแตกต่างกัน บางคนก่อนหน้านี้บอกว่าสิงคโปร์ก็ทำ แต่ต้องดูในรายละเอียดว่าสิงคโปร์มีกฎหมายประกอบซึ่งไม่เหมือนไทย ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์อนุญาตให้โอเปอเรเตอร์สามารถเข้าไปล้วงข้อมูล อ่านอินบ็อกซ์ในเอสเอ็มเอสได้ ซึ่งประเทศเราไม่ได้ให้ทำอย่างนั้น ถามว่า การที่จะให้โอเปอเรเตอร์ร่วมรับผิดชอบ แสดงว่าต้องให้โอเปอเรเตอร์กรองเอสเอ็มเอสได้ด้วย ถ้าเป็นเอสเอ็มเอสหลอกลวง แต่จริง ๆ โอเปอเรเตอร์ไทยอ่านไม่ได้ เพราะการอ่านเป็นความผิด แต่ถ้าจะอนุญาตว่าเพื่อให้ช่วยกัน นั่นแสดงว่าโอเปอเรเตอร์จะไปอ่านโดยพลการก็ไม่ได้ ต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งกรณีนี้ไม่รู้ว่ารัฐไปแก้กฎหมายตัวอื่นเพื่อให้ทำได้อย่างนั้นได้หรือไม่ เพราะไม่เห็นรายละเอียด
ประกาศใช้เลยเสี่ยง
การจะประกาศใช้โดยไม่เปิดเผยร่าง เห็นว่ามีความเสี่ยง ตอนนี้ ธนาคาร และโอเปอเรเตอร์ก็ร้อนใจ มันไม่ควรที่จะประกาศใช้โดยที่ไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนรู้เห็น เพราะโดยธรรมเนียมปฏิบัติหรือวิธีการปฏิบัติ ต้องประชาพิจารณ์ มาตราไหนทำได้ไม่ได้ ต้องปรับแก้อะไร ลักษณะควรเป็นแบบนั้น แต่หากประกาศใช้เลย หากทางธนาคารและโอเปอเรเตอร์ไม่เห็นด้วย ไม่คิดว่าตนเองปล่อยละเลย ก็ต้องเกิดการฟ้องร้องกันเต็มไปหมด ผลสุดท้ายเรื่องทุกอย่างมันจะไปเป็นข้อพิพาทในชั้นศาล กว่าจะสิ้นสุดต้องใช้เวลานานหลายปี หลายสิบปีด้วยซ้ำ สุดท้ายกว่าคนที่เป็นเหยื่อจะได้รับเงินก็ช้าไปหมด
ยกตัวอย่างว่า หากมีความเสียหายเกิดขึ้น คนนี้ 11 ล้านบาท คนนี้ 5 ล้านบาท คนนี้ 1 ล้านบาท แต่พอถึงเวลาจุดนั้น แล้วบอกว่า ธนาคารก็ครึ่งหนึ่ง โอเปอเรเตอร์ครึ่งหนึ่ง แล้วกรณีไหนตัดสินอย่างไร หากต้นเหตุเกิดจากเจ้าของบัญชีเอง เพราะหากโอเปอเรเตอร์และธนาคารมองว่าตนเองไม่ได้มีส่วนรับผิดเรื่องก็จะไปกองที่ชั้นศาลหมด
หรือกรณีโอเปอเรเตอร์ สมมุติว่า หากหละหลวมในการไปเปิดแล้วทำให้มีซิมม้า เช่น อยากขายซิมมากแล้วไม่ได้ทำการพิสูจน์ทราบที่ชัดเจน บัตรประชาชนตรงหรือเปล่า ซึ่งก็ถูกต้องที่ให้มีส่วนรับความเสียหาย ถ้าถาม โอเปอเรเตอร์ทำเต็มที่ ดูบัตรประชาชน เช็กหน้า เช็กลายนิ้วมือ แต่ยังเกิดขึ้นจากผู้ใช้เองตรงนี้จะทำอย่างไรเชื่อว่ามันจะไปเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน
นอกจากนี้สิ่งที่ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ต้องกำหนด คือ กรณีรู้ว่ามิจฉาชีพโอนเงินออกโดยการที่เปลี่ยนเป็นเหรียญ เป็น
คริปโต กฎหมายควรจะไปปิดกั้นตรงนั้น เพราะผลสุดท้ายถ้า
ปิดกั้นมือถือ ปิดกั้นธนาคาร แต่ที่เป็นคริปโตควบคุมไม่ได้ เพราะเงินของผู้เสียหายเปลี่ยนเข้าคริปโตแล้วออกทันที ใช้เวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น ก็ไม่รู้ว่าในพระราชกำหนดนี้ได้มีการเอื้อมไปถึงหรือเปล่า
สุดท้ายแล้ว เมื่อกฎหมายออกมาแล้วคุมไม่ได้ หรือปฏิบัติไม่ได้จริงก็เป็นผลเสีย กระบวนการบางอย่างก็ไม่ใช่หมายความว่าต้องไหลไปตามน้ำอย่างเดียว อาจต้องดูประกอบกันให้รอบด้าน ที่สำคัญมันต้องปฏิบัติได้จริงด้วย!!.