การจัดงานปีใหม่ให้แก่พนักงาน หากนายจ้างได้กำหนดไว้ในระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการพนักงานระบุไว้แล้ว
กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ถือเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่าต้องห้าม เนื่องจาก
รายจ่ายดังกล่าวไม่ได้ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง หากแต่ให้เป็นการทั่วไป และกิจการได้มีการระบุไว้ในระเบียบสวัสดิการพนักงาน
กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้องานเลี้ยงเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงแก่กิจการ สวัสดิการโดยไม่เลือกปฏิบัติให้กับพนักงานคนใดคนหนึ่ง จึงย่อมนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นเงินได้ที่ได้จากการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีรางวัลจากการจับสลาก
กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เช่นเดียวกับค่าจัดงานปีใหม่
กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
• ภาษีซื้อ ที่เกิดจากค่าของขวัญพนักงานในวันปีใหม่ เป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ จึงต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตาม หากของขวัญจับสลากในงานเลี้ยงให้แก่พนักงานทุกคนในลักษณะสวัสดิการ โดยไม่เลือกปฏิบัติให้กับพนักงานคนใดคนหนึ่ง ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกับการเลี้ยงพนักงาน จึงถือว่าเป็นประเภทสวัสดิการของพนักงาน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการย่อมนำมาหักในการคำวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
• ภาษีขาย การมอบของขวัญจากการจับสลาก ถือเป็นสวัสดิการของพนักงานดังกล่าวนั้น ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำใบกำกับภาษี กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รางวัลที่พนักงานได้รับจากการจับสลากหรือจากในงานเลี้ยงปีใหม่ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย โดยกิจการมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร.