ปัจจุบันสถานการณ์การค้าสัตว์ป่า และซากสัตว์ป่าของประเทศไทยเป็นอย่างไร “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์ให้เห็นต่อเนื่อง อย่างกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(บก.ปทส.) โดย พ.ต.อ.วันพิชิต วัฒนศักดิ์ ผกก.6 บก.ปทส ฉายภาพรวมว่า ไม่นานนี้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับ UNODC ซึ่งมีตัวแทน 36 ประเทศเข้าร่วม จากหลายทวีปทั้ง แอฟริกา อเมริกา และเอเชีย เพื่อสรุปสถานการณ์สัตว์ป่าจากทั่วโลก ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าทวีปแอฟริกามีสถานการณ์เกี่ยวกับสัตว์ป่าค่อนข้างหนัก

ทั้งนี้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นเป้าหมายนำสัตว์ หรือซากสัตว์ ส่งออกไปยังที่ต่างๆ เช่น นอแรด งาช้าง จะถูกส่งไปยังประเทศจีน เพื่อใช้ทำยา และเครื่องประดับตกแต่งตามความเชื่อ ลีเมอร์จะถูกจับแบบเป็นๆส่งไปยังประเทศที่มีการเลี้ยงสัตว์สวยงาม ขณะที่ประเทศไทยสถานการณ์ที่พบไม่หนักเท่าที่อื่น เนื่องจากมักถูกใช้เป็นทางผ่านจากประเทศต้นทางไปยังประเทศที่สามมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากให้วิเคราะห์เฉพาะสภาพปัญหาในประเทศ พ.ต.อ.วันพิชิต ระบุ สามารถแบ่งเป็นความผิดภายในประเทศคือ การจับสัตว์ป่ามาขาย อาทิ นกกรงหัวจุกซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลักษณะเป็นการจับนกที่อยู่ในป่าเพื่อนำมาประกวดแข่งขัน ไม่ได้นำไปรับประทาน และการค้าซากสัตว์ป่า อาทิ กบภูเขาถูกจับมาเป็นอาหาร อีกส่วนคือการจับกุมกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน

จากสถิติการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ของบก.ปทส. พบว่า ปี 65 มีจำนวน 396 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 266 ราย มูลค่าความเสียหาย 11 ล้านบาท ปี 66 มีจำนวน 445 คดี ผู้ต้องหา 251ราย มูลค่าความเสียหาย 80 ล้านบาท และปี 67 มีจำนวน 435 คดี ผู้ต้องหา 219 ราย มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยอมรับข้อกังวลการทำหน้าที่ของบก.ปทส. เนื่องจากพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งบังคับใช้มาแล้ว 2 ปี กำหนดให้บก.ปทส.ยุบโอนอำนาจหน้าที่ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานต่างๆ ทำให้จากนี้หากร่างพ.ร.บ.แบ่งส่วนราชการใหม่เสร็จสิ้น หน้างานการจับกุมการค้าสัตว์ป่า บก.ปทส.อาจไม่ได้ดำเนินการ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การค้าสัตว์ป่าในตลาดโลก ประเมินว่าเป็นกลุ่มสัตว์ “Exotic” หรือ สัตว์พิเศษ ซึ่งสัตว์สวยงามบางชนิดจัดเป็นสัตว์ที่ได้รับการอนุรักษ์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ ไซเตส บัญชี 1 ซึ่งหลายประเทศให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ด้วย ซึ่งนอกจากสัตว์บางประเภทจะได้รับการอนุรักษ์แล้ว ยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ดังนั้น หากไม่มีการเฝ้าระวังและจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ก็จะทำให้สัตว์เหล่านี้ลดจำนวนลงได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากสถานการณ์ล่าและขายสัตว์ป่าแล้ว อีกสถานการณ์น่าจับตามองคือ สภาพป่าไม้ในไทย เนื่องจากมีรายงานของกรมป่าไม้ระบุถึงสถานการณ์ป่าไม้ในปี 65-66 พบว่ามีแนวโน้มลดลงมากถึง 317,819.20 ไร่ และปี 66 เป็นปีที่มีพื้นที่ป่าลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปีด้วย

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวงจรที่ต่างพึ่งพิงกันหลายส่วน การรักษาให้คงอยู่จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันไม่ว่าเราจะเป็นต้นทาง ปลายทาง หรือเพียงทางผ่านของปัญหาก็ตาม.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]