เรื่องคอลเซนเตอร์ มันพัฒนาตัวมันเองเรื่อยๆ ไปถึงกระทั่งกดลิงค์แปลกๆ ก็ส่งโปรแกรมเข้ามาแฮคข้อมูลในมือถือเราได้ หรือกระทั่งวิธีเดิมๆ หลอกว่า เรามีเงินผิดกฎหมายก็เถอะ เกิดเรื่องแบบ“สี่ตีนยังรู้พลาด” บางคนคิดว่าตัวเองรู้ทันคอลเซนเตอร์ก็เผลอพลั้งไปเชื่อมันได้ ไอ้ที่แสบคือ ส่วนหนึ่งเป็นคนไทยด้วยกันนี่แหละที่ทำ ซื้อขายบัญชีม้าเปิดหน้าให้แสกนแลกเบิกเงินแต่ละรอบ ..จะต้องรณรงค์กันอย่างไร แค่ไหน ถึงจะทำให้รู้ว่า เปิดบัญชีม้ามีความผิด ..และจะต้องทนเบื่อกันอีกแค่ไหนกับการที่บางคนไปเป็นมิจฉาชีพ พอถูกจับได้อ้างจน ( แต่ก็มีพวกถูกบังคับส่วนหนึ่งที่น่าสงสาร )
เรื่องนี้“อดีตนายกฯแม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร คงเห็นว่า “มันขายได้” ตามประสาคนเห็นแวดวงการเมือง,สังคมไทยมานาน ในครั้งที่ไปปราศรัยหาเสียงช่วย สว.ก๊อง หรือนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ชิงเก้าอี้นายก อบจ. ก็ได้ประกาศ “ผมกำลังบอกกับทางเมียนมาและเขมรให้จัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และบัญชีม้า หากจัดการไม่ได้ผมขออนุญาตส่งคนไปจัดการ ผมยังพูดกับกะเหรี่ยงเคเอ็นยู แล้วบอกไปทางเมียนมาแล้วว่าให้ช่วยจัดการหมู่ที่อยู่แถวเมียวดี หากไม่มีกำลัง เดี๋ยวผมจะเอากำลังไปจัดการ ภายในปีหน้าคอลเซ็นเตอร์จะต้องจัดการให้เกลี้ยง เศรษฐกิจใต้ดินจะเอาขึ้นมาบนดิน ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจใต้ดินมีขนาดใหญ่มาก แต่ไม่เสียภาษีสักบาท”
เรียกว่า โชว์ความเป็นมือประสานขนาดคุยกับผู้นำได้ ทั้งเมียนมา ทั้งกะเหรี่ยง ทั้งเขมร แถมประกาศก้องปี 2568 คอลเซนเตอร์ต้องหมดไป..ซึ่งก็ไม่เชื่อหรอกว่ามันจะหมดไป เพราะถ้ามันเป็นวิธีมิจฉาที่หาเงินได้มาก มันก็จะยิ่งพยายามพัฒนาให้หาเหยื่อได้เรื่อยๆ เหมือนกับต้องไล่จับกันไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อย ก็ให้เจ้าหน้าที่มีแอคชั่นแรงๆ
“บิ๊กอรรถ”พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี( สอท. ) กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีการกำหนดเหตุอันควรสงสัยสำหรับสถาบันการเงินเอาไว้19 ข้อ ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่ง สามารถฟ้องร้องสถาบันการเงินได้ อาทิเช่น บัญชีที่มีการโอน เงินเข้าและออกที่มีมูลค่าน้อยในระยะสั้นหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการโอนยอดเงินสูงออกจากบัญชีดังกล่าวไปทันที ,บัญชีที่มีปริมาณการโอนเงินเข้าออกจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสถาบันการเงินได้เสนอให้ตำรวจดูเรื่องข้อต้องสงสัยเกี่ยวกับเงินคริปโตเคอเรนซี่ พฤติกรรมต้องสงสัย ทางสถาบันการเงินธนาคารจะใช้อำนาจตาม ม.6 แห่ง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระงับธุรกรรมไว้ก่อนเจ็ดวันเพื่อทำการตรวจสอบ
“ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถดำเนินการเรื่องการเคลื่อนไหวทางบัญชีผิดปกติได้เช่นเดียวกับสิงค์โปร์ เรื่องที่ธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องร่วมรับผิด เรามี พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) อยู่ระหว่างการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเรื่องการกำหนดโทษ เรื่องโทษทางอาญา ธนาคารแห่งประเทศไทยและ กสทช.ต้องไปออกกฎด้วย ” ทาง“บิ๊กอรรถ”ย้ำด้วยว่า ไทยมีมาตรการป้องกันและปราบปรามไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศสิงคโปร์ เพียงแต่ประชาชนอาจจะยังไม่ทราบ ก่อนหน้านี้ได้มีกรณีตัวอย่างที่ศาลสั่งให้สถาบันการเงินชดใช้เงินให้กับผู้เสียหายในคดีคอลเซ็นเตอร์และคดีหลอกลวงทางออนไลน์
ซึ่งแนวทางศาลก็จะมาเทียบเคียงกับแนวทางทั้ง 19 ข้อ หากไม่ทำตามก็ต้องมีการรับผิดชอบร่วมความเสียหายที่เกิดขึ้นทางแพ่ง ความคืบหน้าเรื่องนี้คือกระทรวงดีอีส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดูแล้ว
การแก้ไข พ.ร.ก.ดังกล่าวมีหลายเรื่อง มาตรการที่ 1 การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ และโอเปอเรเตอร์ ( ผู้ให้บริการเครือข่าย ) มาตรการที่ 2. คือการจ่ายเงินคืน และมาตรการที่ 3 เพิ่มโทษผู้กระทำความผิด รายละเอียดการคืนเงินให้กับผู้เสียหายอยู่ระหว่างการพูดคุย ไม่ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา สามารถดำเนินการได้เลย โดยแนวทางหากออกมาตรการไปแล้ว หากธนาคารและโอเปอเรเตอร์ไม่ปฏิบัติตามทำให้เกิดความเสียหาย ต้องมีส่วนร่วมในเงินที่ประชาชนเสียไป ทางผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และธนาคารต่างเห็นด้วย ในการตัดวงจรมิจฉาชีพทุกทาง
วันที่ 1 ม.ค.68 จะมีอีก 1 มาตรการออกมาเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต คือการส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์ต่าง ๆ ที่จะมีการแนบลิงก์ให้ลงทะเบียน ผู้ส่งต้องแจ้งสถานะว่า เป็นใคร หากไม่พบข้อมูลผู้ส่ง โอเปอเรเตอร์จะมีการระงับการส่งดังกล่าว การแก้ไข พ.ร.ก. ครั้งนี้ สิงคโปร์ก็เพิ่งออกกฎหมายลักษณะเดียวกันมาใช้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดีอี กล่าวว่า เราต้องการให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีการเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล จาก 1 ปี เป็น 5 ปี ด้วย โดยขณะนี้กฎหมายอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งกลับมาให้ ครม.เห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป ส่วนการทำงานเรื่องบัญชีม้า สิ้นเดือน พ.ย. ได้ระงับบัญชีม้าไปแล้ว 1.5 ล้านบัญชี ส่วน สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการมือถือได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.7 ล้านเลขหมาย และอยู่ระหว่างการคัดกรองผู้ใช้งานโมบาย แบงก์กิ้ง ที่ต้องทำการตรวจสอบ ประมาณ 43 ล้านบัญชี นอกจากนี้ยังมีมาตรการการป้องกันการโทรหลอกลวง ภายใต้โครงการ DE-fence platform โดยจะพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง คาดว่าเริ่มให้บริการได้ในช่วงเดือน ก.พ. 68
นายประเสริฐกล่าวว่า ยังได้ให้ “ศูนย์ AOC 1441 สายด่วนภัยออนไลน์”เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสำนักงาน ปปง. เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการจดทะเบียนนิติบุคคล กรณีข้อมูลของบุคคลที่มีความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับบัญชีม้าสูง รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบไทยโปลิสออนไลน์(Thai Police Online) หรือ TPO ร่วมกับ บช.สอท. และ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินจากบัญชีม้าแถวหนึ่งจนถึงแถวสุดท้าย อาทิ ชื่อบัญชี เลขบัญชี ข้อมูลคริปโทเคอร์เรนซี Wallet ID
TPO จะรายงานข้อมูลเกี่ยวกับคดีกลับมายังศูนย์ฯ เพื่อนำไป วิเคราะห์ข้อมูล ติดตามสถานะและปัญหาในการดำเนินการในแต่ละคดี และพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือออกมาตรการเพื่อให้สามารถมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เพิ่มความเข้มงวดในการจดทะเบียนนิติบุคคล ในกรณีนิติบุคคลผู้ขอจดทะเบียนมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง รหัส เอชอาร์-03 หรือ บัญชีม้า ด้วย
สำหรับด้านการจัดการโอเปอเรเตอร์ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ บอกว่า สำนักงาน กสทช.จะหารือในการกำกับดูแลการซื้อขายซิมการ์ดจำนวนมากๆ ตอนนี้ยังไม่มีการจำกัดในกรณีบริษัทที่เป็นนิติบุคคลซื้อซิมการ์ดจำนวนมากเพื่อไปจำหน่ายต่อ มีเพียงการออกกฎระเบียบให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 5 เลขหมาย มาจดแจ้งการถือครองซิมในการใช้งาน
“ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือในอดีตมีการจำหน่ายซิมโดยไม่ผ่านการลงทะเบียน ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามการกระทำผิดเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่มีการลักลอบใช้งานซิมการ์ดจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในส่วนของการที่รัฐบาลและกระทรวงดีอีเสนอแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 นั้น ที่จะมีการกำหนดให้ผู้ประกอบการมือถือและธนาคารต้องมีส่วนร่วมผิดชอบนั้น จะมีกำหนดขั้นตอนให้ทางค่ายมือถือ และธนาคารต้องปฏิบัติตาม หากปล่อยปะละเลยไม่ดำเนินการอะไรเลยก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิด เช่น หากมีธุรกรรมที่ผิดปกติ มีการโอนเงินจำนวนมากต้องรีบเจ้าของบัญชีทันที หรือการขายซิมให้บุคคลที่ไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนก็ผิด เป็นต้น แต่หากผู้ประกอบการดำเนินการตามทุกขั้นตอนแล้ว แต่ความเสียหายเกิดจากความโลภของผู้ใช้งาน ก็ไม่ต้องร่วมรับผิด ซึ่งต้องมีการพิสูจน์เป็นกรณีไป และต้องรอดูกฎหมายที่ออกมาอีกครั้ง” กรรมการ กสทช. กล่าว
พล.ต.อ.ณัฐธร บอกด้วยว่า ประเทศออสเตรเลียก็กำลังดำเนินการ ซึ่งจะร่วมถึงแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียด้วย เพราะเป็นประเทศที่มีอำนาจการต่อรองสูง แต่ประเทศไทยอาจจะยังทำไม่ได้ เพราะโซเซียลมีเดียต่างๆ จดทะเบียนอยู่นอกประเทศไทย แต่เรื่องการเพิ่มเข้มงวดการส่งเอสเอ็มเอส (SMS) แนบลิงก์สำหรับบริการส่งข้อความสั้น จะต้องทำการลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด ทางอนุกรรมการใน กสทช. ได้ประชุมกันเรียบร้อยแล้ว จะเร่งดำเนินการให้เสร็จบังคับใช้ได้ในต้นปี 68 เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด
ปี 68 ต้องรอดูกฎหมาย พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับแก้ไขออกมาจะกระทุ้งเจ้าหน้าที่ได้แค่ไหน น่าสนใจที่อดีตนายกฯแม้ว บอกชัดบนเวทีปราศรัยที่เชียงใหม่ว่า “คอลเซนเตอร์วันนี้อยู่ที่เขมร ตึก 25 ชั้น 2 หลัง อยู่ที่แถวปอยเปต แล้วก็มีบ่อนคนไทย เป็นที่เก็บบัญชีม้า” ก็คิดว่า ถ้าอดีตนายกฯรู้ นายกฯคนปัจจุบันที่เป็นลูกสาวก็คง“มีลู่ทาง”เข้าไปจัดการได้
เชื่อเถอะว่าคดีฉ้อโกง ทุจริต เป็นอะไรที่คนสาแก่ใจมากที่สุดถ้าเอาคนผิดมารับโทษ มาประจานได้ รัฐบาลควรเคร่งเรื่องนี้เพื่อเป็นผลงานชิ้นสำคัญ และได้มีส่วนช่วยเศรษฐกิจประเทศได้มาก เพราะแกงค์ผิดกฎหมายนี้ดึงเงินออกจากประเทศปีละเป็นหมื่นล้าน และกลายเป็นตัวแปรหนึ่งในการสร้างหนี้.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”