เนื้อความดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นวัตถุประสงค์การจัดงาน “New Directions East Asia 2024” ที่ทาง แดนนี่ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติชเคานซิลประเทศไทย ระบุในพิธีเปิดงาน ซึ่งนับเป็น ครั้งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาระดับโลกงานนี้…
ในโอกาส170 ปีสัมพันธ์ไทย–อังกฤษ
ที่กำลังจะครบรอบในปีหน้า…ปี2568
สำหรับงานสัมมนาNew Directions East Asia ในปีนี้…เป็นครั้งที่ 12 ที่ถูกจัดขึ้น โดยเป็นงานสัมมนาซึ่ง รวบรวมผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ครูอาจราย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดระดับทักษะภาษา มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อผนึกความร่วมมือและศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการวัดระดับทักษะภาษา โดยปีนี้มุ่งเน้นศึกษาผลกระทบของนโยบายการวัดระดับทักษะภาษาทั้งระดับมหภาคและจุลภาค เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตร แนวทางการสอน การวัดระดับทักษะ ให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสชีวิต ให้ผู้เรียน
ในโลกที่มีความหลากหลายทางภาษา
งานดังกล่าวในไทยครั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ และก็ได้รับทราบข้อมูลมุมมอง เสียงสะท้อน จากนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีต่อ “ทักษะภาษาในโลกยุคใหม่”ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่องนำมาบอกต่อ โดยในงานดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญสะท้อนไว้ว่า… ในโลกยุคใหม่ที่ได้ถูกทลายข้อจำกัดเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา เปิดกว้างให้ผู้เรียนยุคใหม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้หลากหลายวิธีการนั้น เรื่องนี้ก็นำสู่ “คำถามสำคัญ” และเป็นความท้าทายอย่างมากในโลกการเรียนรู้ยุคใหม่ นั่นคือ “เครื่องชี้วัดความรู้” เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน “ได้มาตรฐานหรือไม่?”
ยิ่งเป็นโลกยุคใหม่ที่มีผู้คนหลากหลาย
เรื่องนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
และเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง แดนนี่ไวท์เฮด ได้มีการระบุในเวทีดังกล่าวนี้ว่า… เพื่อจะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการวัดระดับภาษาทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้กำหนดนโยบาย ทางบริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรนานาชาติเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และโอกาสทางการศึกษา จึงได้จัดงานสัมมนาขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางการสอบวัดระดับภาษา รวมถึงหารือแนวทางและการพัฒนาร่วมกับนานาประเทศ โดยครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “อิทธิพลการวัดระดับทักษะภาษาต่อบุคคลและสังคม (The Power of Language Assessment on Individuals and Society)”ทั้งนี้ เพื่อจะนำสู่เครื่องมือสำหรับผู้เกี่ยวข้อง…
เพื่อให้เกิดเครื่องมือที่นำไปใช้ได้จริง
นอกจากนั้น ทางผู้บริหารบริติช เคานซิล ประเทศไทยยังได้มีการระบุย้ำถึงหัวใจของการสัมมนาไว้ว่า… ในปีนี้มีการมุ่งเน้นศึกษาผลกระทบของนโยบายการวัดระดับทักษะภาษา ทั้งระดับมหภาค และระดับจุลภาค เพื่อที่จะให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตร แนวการสอน และการวัดระดับทักษะ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงช่วยเพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มคุณภาพการศึกษา ผ่านทางการอภิปรายที่สำคัญใน 4 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้คือ… 1.นโยบายภาษาอังกฤษ ระบบเรียนรู้ การวัดระดับทักษะภาษา, 2.นโยบายภาษาและสังคม, 3.ภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่น และ 4.เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) …นี่เป็น 4 เรื่องใหญ่ 4 ประเด็นใหญ่ ที่ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเวทีสัมมนาในปีนี้
“การได้เป็นเจ้าภาพครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีของไทย ที่มีเวทีหารือระดับโลกเกี่ยวกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของการวัดระดับทักษะภาษา รวมถึงการเรียนการสอน และการวัดระดับทักษะภาษา เพื่อที่ไทยจะสามารถตอบโจทย์และพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการที่โลกเปลี่ยนแปลงไป” …เป็นการระบุที่ชี้ถึงสิ่งที่ไทยก็ต้องทำ
“ทักษะภาษา” นี่ก็ “ความท้าทายใหม่”
ที่ “ไทยก็จำเป็นจะต้องพร้อมรับมือ”
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการอภิปราย ทาง เฮเธอร์ ฟอร์บส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสอบวัดระดับทักษะภาษา ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก ของบริติช เคานซิลได้เสริมถึง “ความสำคัญ” ของการทำให้เกิด “ความเชื่อมโยง–ความร่วมมือ” ให้ได้ ไว้ว่า… จะช่วยให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านภาษา รวมถึงจะช่วยให้ในระดับผู้ปฏิบัติ เช่น ผู้สอน ผู้ส่งเสริม รวมถึงผู้ประเมินวัดผลทักษะทางภาษา มีแนวทางและมาตรฐานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเวทีนี้…
“นอกจากจะเป็นการยกระดับการศึกษาแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ซึ่งนโยบายทางภาษานั้น ไม่เพียงช่วยเพิ่มโอกาสชีวิตให้เยาวชน แต่ยังเป็นการช่วยเตรียมให้เด็ก ๆ พร้อมที่จะสื่อสารและทำงานร่วมกันบนโลกที่มีการใช้ภาษาหลากหลายด้วย” …ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาย้ำไว้ถึง “ความจำเป็น”
“ภาษา” สำคัญ “มิใช่เพียงมิติสื่อสาร”
หากว่า “มีทักษะทางด้านภาษาที่ดี”…
ก็จะ “มีโอกาสชีวิตในโลกยุคใหม่”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์