คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2567 ให้แก่ สมาพันธ์ผู้ประสบภัยจากระเบิดปรมาณูและไฮโดรเจนแห่งญี่ปุ่น หรือ นิฮง ฮิดังเกียว “จากความพยายามในการทำให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และสำหรับการพิสูจน์ผ่านคำให้การของผู้รอดชีวิต ว่าต้องไม่มีการนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้อีกต่อไป”
นิฮง ฮิดังเกียว ก่อตั้งเมื่อปี 2499 โดยกลุ่ม “ฮิบะกุชะ” ซึ่งเป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น ใช้เรียกผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ซึ่งกองทัพสหรัฐเป็นผู้ใช้ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบัน นิฮง ฮิดังเกียว มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น มีเป้าหมายเรียกร้องให้ภาครัฐ เดินหน้าและยกระดับความสนับสนุนให้แก่ผู้ประสบภัยร้ายแรงดังกล่าว และผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่น ขับเคลื่อนนโยบายปลอดนิวเคลียร์
จวบจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศเดียวบนโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู โดยการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของสหรัฐ ที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2488 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 140,000 ราย และอีกเพียงสามวันต่อมา คือเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2488 เมืองนางาซากิเผชิญกับระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สอง มีผู้เสียชีวิตราว 74,000 ราย
แม้คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์แสดงความหวังว่า การมอบรางวัลสาขาสันติภาพให้แก่นิฮง ฮิดังเกียว จะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกและความตระหนักรู้ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่มีต่อหายนะจากการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม “เป็นไปไม่ได้เลย” ที่บรรดามหาอำนาจนิวเคลียร์จะยอมถอยคนละก้าว จากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้นโยบายที่ว่า “ต้องมีไว้ในครอบครองเพื่อการป้องปราม”
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประเทศซึ่งมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก สั่งอัปเดตหลักนิยมการใช้นิวเคลียร์ของประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ โดยเงื่อนไขสำคัญรวมถึง การพิจารณาการโจมตีของ “ประเทศที่ไม่ใช่รัฐนิวเคลียร์” แต่ได้รับความสนับสนุนจาก “มหาอำนาจนิวเคลียร์” ถือเป็น “การโจมตีร่วมกัน” ของทั้งสองฝ่าย
ยิ่งไปกว่านั้น “การโจมตีร่วม” ไม่ได้หมายความอีกต่อไปว่า เฉพาะประเทศหนึ่งประเทศใด ที่ให้ความสนับสนุนแก่ประเทศที่ไม่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง แต่หากเป็นประเทศหนึ่งในประเทศใดจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ซึ่งสนับสนุนการโจมตีลักษณะนี้ รัฐบาลมอสโกถือว่า “เป็นการโจมตีโดยตรงจากทั้งนาโต”
ขณะเดียวกัน รัสเซียจะพิจารณา “ความเป็นไปได้” ของการใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ หากฝ่ายความมั่นคงและข่าวกรองตรวจพบว่า กำลังมีการเตรียมการใช้ขีปนาวุธ อากาศยาน และอากาศยานไร้คนขับ ( โดรน ) ในระดับที่ถือเป็น “ภัยคุกคามอย่างมีนัยสำคัญ” ต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซีย นอกจากนี้ ปูตินเน้นย้ำว่า กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย “มีความสำคัญที่สุด” ในการเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยและความมั่นคง ให้กับรัฐและประชาชนของประเทศ
อนึ่ง สงครามในยูเครนซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 ทวีความรุนแรงขึ้นอีกระดับ เมื่อสหรัฐอนุญาตให้ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธ “อะแทคซิมส์” ซึ่งมีพิสัยทำการระยะไกลประมาณ 300 กิโลเมตร และรัฐบาลเคียฟยังใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกล “สตอร์ม ชาโดว์” ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีพิสัยทำการไกลประมาณ 250 กิโลเมตร แต่ยังน้อยกว่าระบบขีปนาวุธ “อิสกันเดอร์” ของรัสเซีย ที่เป็นอาวุธลักษณะใกล้เคียงกัน และมีพิสัยทำการไกลประมาณ 500 กิโลเมตร
หลังจากนั้น รัสเซียตอบโต้ ด้วยการใช้ “ขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่” หรือขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นล่าสุด ในชื่อ “โอเรชนิก” (Oreshnik ) หรือ “ฮาเซล” ซึ่งมีพิสัยทำการข้ามทวีประยะกลาง และยังไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์
ทั้งนี้ ปูตินกล่าวว่า ไม่มีทางที่อาวุธชนิดใดจะต้านทานการโจมตีของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกลูกดังกล่าวได้ ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 10 มัค หรือ 10 เท่าของความเร็วเสียง หรือ 2.5-3 กิโลเมตรต่อวินาที
ขณะเดียวกัน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า สงครามในยูเครนกำลังยกระดับสู่การเป็น “การเผชิญหน้าระดับโลก” และไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการโจมตีตอบโต้โดยตรงไปยังฝ่ายตะวันตก ที่ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธแก่ยูเครน ซึ่งนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า ถ้อยแถลงดังกล่าว “à»ç¹¡ารส่งสารที่ครอบคลุม ชัดเจน และสมเหตุสมผล” จากผู้นำรัสเซีย และเชื่อมั่นว่า สหรัฐ “รับทราบและเข้าใจ”
ในเวลาเดียวกัน นายเซอร์เก ริบคอฟ รมช.การต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมอสโกกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ของการติดตั้งระบบขีปนาวุธ ที่มีพิสัยทำการระยะใกล้ถึงกลาง ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อตอบสนองต่อรายงานที่ว่า สหรัฐมีแผนติดตั้งระบบที่คล้ายคลึงกันในภูมิภาคแห่งนี้
ถ้อยแถลงดังกล่าวของริบคอฟเกิดขึ้น หลังสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น รายงานเมื่อไม่นานมานี้ โดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว ว่าสหรัฐมีแผนการติดตั้งระบบขีปนาวุธ “ไฮมาร์ส” ตามแนวชายฝั่งหมู่เกาะนันเซ หรือหมู่เกาะริวกิว ซึ่งทอดยาวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ จากหมู่เกาะคิวชูของญี่ปุ่น ถึงเกาะไต้หวัน “เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่อาจเกิดขึ้นกับไต้หวัน
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ฉุกเฉินที่ว่านั้น “มีแนวโน้มเกิดขึ้นภายในอนาคตอันใกล้” กองทัพสหรัฐมีแผนการก่อสร้างฐานทัพชั่วคราวบนหมู่เกาะแห่งนี้ แล้วส่งนาวิกโยธินจำนวนหนึ่งเข้าไปประจำการ ส่วนกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะให้ความสนับสนุนในด้านการส่งกำลังบำรุงเท่านั้น
รายงานของสำนักข่าวเกียวโดระบุด้วยว่า กองทัพสหรัฐมีแผนประจำการกองกำลังที่เรียกว่า “หน่วยเฉพาะกิจหลายมิติ” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ในยุทธบริเวณ ในฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิบัติการฉุกเฉิน” ที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันเช่นกัน
ขณะที่น่าสังเกตว่า บรรดาสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่งพร้อมใจกันนำถ้อยแถลงดังกล่าวของริบคอฟ มาเผยแพร่เป็นภาษาจีนด้วย ด้านนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวถึงรายงานของสำนักข่าวเกียวโด ว่าเป็น “ข้ออ้าง” ของสหรัฐ ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียด การเผชิญหน้า และเพื่อบ่อนทำลายเสถียรภาพ ตลอดจนสันติภาพในภูมิภาคแห่งนี้
แม้นิฮง ฮิดังเกียว ไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานแห่งแรกของโลก ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหนึ่งในเหตุผลสำคัญประกอบการตัดสินมอบรางวัลโนเบลให้กับการเคลื่อนไหว และการดำเนินงานลักษณะนี้ คือความหวังเพิ่มน้ำหนักให้กับเสียงเรียกร้อง ในการทำให้โลกใบนี้เป็นพื้นที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์
ทว่าท่ามกลางความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายภูมิภาคของโลก ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แม้ความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในระดับเดียวกับสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง “ต่ำมากถึงมากที่สุด” แต่ต้องยอมรับว่า อาวุธร้ายแรงและทรงอานุภาพทำลายล้างนี้ เป็นสิ่งที่ประเทศมหาอำนาจเห็นตรงกันว่า “ต้องมี” เพื่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP