ที่ตลาดแห่งหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ พ่อค้าแม่ค้ากล่าวว่า พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่าธุรกิจจะซบเซาขนาดนี้ ซึ่งครอบครัวจำนวนมากพบว่าเงินของพวกเขาลดลง นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่การระบาดใหญ่และปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นทั่วโลก ลาวก็พบว่าตนเองไม่สามารถหยุดยั้งภาวะเงินเฟ้อได้

ตามข้อมูลอของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ราคาสินค้าสูงขึ้น 23% ในปี 2565, 31% ในปีที่แล้ว และประมาณ 25% ในปีนี้ ซึ่งหลายครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากราคาอาหารหลักพื้นฐาน เช่น ข้าว, น้ำตาล, น้ำมัน และเนื้อไก่ เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อปีที่แล้ว

อนึ่ง การสำรวจครัวเรือนของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนจำนวนมากต้องการอาหารเป็นอย่างยิ่ง จนพวกเขาตัดสินใจออกไปหาอาหารมารับประทานด้วยตัวเอง รวมถึงขายสิ่งของมีค่าเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ

แม้เศรษฐกิจของลาวเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานถึง 30 ปี แต่ลาวยังคงเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในทวีปเอเชีย โดยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่จำกัด และแรงงานทักษะต่ำที่ทำงานในภาคส่วนเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเวียงจันทน์กู้ยืมเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน เพื่อเป็นเงินทุนสร้างทางรถไฟความเร็วสูง มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 209,000 ล้านบาท) และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศกลายเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเตือนในรายงานที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หนี้สาธารณะของลาว ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 453,000 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 108% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) “ไม่ยั่งยืน” อีกทั้งการชำระหนี้ ยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เพราะค่าเงินกีบลดลง

“เนื่องจากลาวพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเป็นอย่างมาก เงินกีบที่อ่อนค่าจึงทำให้ราคาผู้บริโภคภายในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลง และทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัว” นายป่อ ลินน์ อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาค อาเซียน+3 (อัมโร) กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกลางลาว (บีโอแอล) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียงจันทน์เริ่มดำเนินแผนการที่มุ่งเป้าควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 20% ภายในเดือน ธ.ค. นี้ แต่ถึงอย่างนั้น นายวิวัฒน์ กิตติพงศ์โกศล จากธนาคารพัฒนาร่วมลาว (เจดีบี) กล่าวว่า รัฐบาลตอบสนองต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น “ช้าเกินไป”

ด้านธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลลาวนำเสถียรภาพมาสู่การเงินของประเทศในระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มาจากการเลื่อนชำระหนี้ และการจำกัดการใช้จ่ายด้านสุขภาพ, การศึกษา และสวัสดิการ ซึ่งนายอเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำลาว กล่าวเตือนว่า มาตรการรัดเข็มขัดเหล่านี้ จะสร้างความเสียหายในระยะยาว

แม้ลาวเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ก็มีความสำคัญต่อรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งจะดำเนินการทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของลาว อย่างไรก็ดี ชาวลาวอาจต้องเผชิญกับความเจ็บปวดมากขึ้นในระยะสั้น โดยเอดีบีคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศจะสูงกว่า 20% จนถึงสิ้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP