เมื่อวันที่ 24 พ.ย. มีการแข่งเดือดการเมืองท้องถิ่น คือการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) อุดรธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ซึ่งจังหวัดที่คนชนะนอนมาคือเพชรบุรี ได้ลูกหลานบ้านใหญ่อังกินันทน์ “นายกปราย” นายชัยยะ อังกินันทน์ รักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกสมัย จังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่เสียงสวิงในการเลือกตั้งระดับชาติ คือไม่ใช่ถิ่นของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิเศษ ที่เดือดแบบคนไม่ค่อยรู้ว่าเดือด คือ จ.นครศรีธรรมราช แข่งขันกันระหว่างแชมป์เก่า “นายกต้อย”นางกนกพร เดชเดโช นายก อบจ.คนเก่าที่ลาออกมาลงเลือกตั้งอีกสมัย ซึ่งว่ากันว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนอยู่  นายกต้อยก็เป็นแม่ สส.ประชาธิปัตย์ คือชัยชนะหรือแทน และพิทักษ์เดช หรือเท่ห์ เดชเดโช

แข่งขันกับ “เจ๊น้ำ”วาริน ชิณวงศ์ หัวหน้าทีมนครเข้มแข็ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย  ก็เป็นที่ทราบกันดีในภาคใต้ว่า ภูมิใจไทยหวังเจาะยางประชาธิปัตย์ หวังแย่งพื้นที่มานานแล้ว หลังจากที่ยึดฝั่งอันดามันมาได้ก็พยายามจะกวาดฝั่งอ่าวไทย ซึ่งในการเลือกตั้งปี 62 ประชาธิปัตย์ก็โดนพลังประชารัฐ ( พปชร.) และภูมิใจไทยรุมแย่งภาคใต้ …ซึ่งเหตุการณ์ปี 62 ต้องบอกว่า จังหวัดพัทลุงออกจะเป็นจังหวัดที่น่าสงสารที่สุด เลือกภูมิใจไทยมา 2 เขตก็เหมือนไม่มี สส.เนื่องจาก สส.ถูกพักงานจากข้อหาเสียบบัตรแทนกัน ทั้งนายภูมิศิษฏ์ คงมี , นายฉลอง เทอดวีระพงษ์ ..ในครานั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มปริแตกหนัก เนื่องจากความขัดแย้งในการเตรียมตัวผู้สมัคร สส.เขต 2 แทนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ หากเกิดต้องเลือกตั้งซ่อมระหว่างรัฐบาลประยุทธ์ ..ประมาณว่า นายนิพิฏฐ์หนุนคนนึง ผู้มีอำนาจพรรคหนุนอีกคน

พอมาเลือกตั้งปี 66 คราวนี้ประชาธิปัตย์ยิ่งช้ำ โดนรุมเจาะจากภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ก้าวไกล ซึ่งคนของประชาธิปัตย์ไหลไปอยู่ รทสช.เสียมาก คนที่ยอมรับว่า “ไปเพราะกระแสดีกว่า” คือ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต สส.สมุทรสงคราม ที่พูดชัดว่า เชคเสียงประชาชนในพื้นที่แล้วอยู่พรรคเดิมก็ไม่ชนะ …ไม่ต้องมาอ้างความขัดแย้งระหว่างผู้มีอิทธิพลในพรรคกับกรรมการบริหารพรรค บลาๆ แบบหลายๆ คน ..ผลคือประชาธิปัตย์ได้ สส.แค่ราว 30 คนในการเลือกตั้งปี 66 ขณะที่พัทลุง คนคงเข็ดหลาบกับวีรกรรม สส.ภูมิใจไทย เลยหันไปให้คะแนนพรรคประชาธิปัตย์ เขตแรกได้นางสุพัชรี ธรรมเพชร และเขตสองได้ “เดียว” นิติศักดิ์ ธรรมเพชร ลูกชายนายก อบจ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร แม้จะสังกัด รทสช.ก็พวกประชาธิปัตย์เก่า

ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ทีมภูมิใจไทยพลิกมาชนะ ชนิดที่ในพื้นที่คิดว่า หักปากกาเซียน ซึ่งก็น่าจะสร้างความระส่ำในพรรคประชาธิปัตย์พอสมควร ว่า จะสร้างผลงานอย่างไรเพื่อ “เสี่ยต่อ”เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สร้างคะแนนนิยมได้ .. หลายคนทั้งกองเชียร์และกองแช่งก็คงจับตาดูอยู่ เพราะตอนประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลแพทองธาร เหตุผลที่เสี่ยต่อ และนายกชาย นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลคือ “ต้องมีผลงานเพื่อใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า” แต่เท่าที่ดูบทบาทสองคนที่ไปเป็นรัฐมนตรี ทั้ง รมว.ทส.และ รมช.สาธารณสุข ก็ไม่ได้โดดเด่นเป็นที่จดจำมากนัก จนไม่รู้ว่า เลือกตั้งเที่ยวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร เพราะตอนเลือกหัวหน้าพรรค ก็เลือดไหลออกกันแบบพรรคอาการพะงาบๆ

มาเที่ยวนี้ นายก อบจ.เก่า เป็นแม่ สส.สองคนยังแพ้ ก็น่าสนใจแล้วว่า ประชาธิปัตย์จะรักษาเก้าอี้ สส.เมืองคอนไว้ได้กี่ที่ พัทลุง สงขลาก็เช่นกัน สงขลานั้นยังเป็นจังหวัดที่นายกชาย เดชอิศม์ยังมีอิทธิพลอยู่ คงยังปลอดภัยในหลายเขต  ส่วนจังหวัดตรัง ก็ไม่รู้ว่า “บารมีนายหัวชวน”จะยังยื้อไว้ได้กี่เขต.. คิดว่า ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ยุคปัจจุบันคงหืดขึ้นคอในการสร้างกระแส ( ในเขตเมือง ก็พยายามชู ดร.เอ้ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มาขาย แต่เสียดายที่มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ขอยุติบทบาทในช่วงนี้ไปก่อน หลังเลือกหัวหน้าพรรค )  ถ้ากระแสดี ก็อาจดึงเลือดเก่าที่ย้ายออกไปกลับมาได้บ้าง โดยเฉพาะที่ย้ายไป รทสช. พรรคที่เกิดได้ในปี 2566  เพราะกินบุญเก่า “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เสียมาก สังเกตดูว่า พรรคนี้ได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนมีนัยยะสำคัญที่บอกว่า “คนอยากได้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค รทสช.กลับมาทำงาน”

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์วางมือทางการเมือง รทสช.จะเหลืออะไรเป็นจุดขายอีก ..ข้างฝ่าย “หัวหน้าตุ๋ย” นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคเอง ก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นคนติดดินเข้าถึงง่ายมากนัก ผลงานในด้านการเป็น รมว.พลังงานก็ไม่เห็นภาพโดดเด่นเรื่องการลดภาระรายจ่ายค่าพลังงาน ( รัฐมนตรีในโควตาพรรคอีก 3 คนก็ค่อนข้างเงียบ โดยเฉพาะ เฮียเฮ้ง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ที่เงียบมาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ) ..มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะค่อยๆ มีสัญญาณมาเรื่อยๆ ว่า เดี๋ยวเลือดไหลออกจาก รทสช. จะกลับไปพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ก็รอดู แต่ก็อาจไปภูมิใจไทยก็ได้ ส่วนพลังประชารัฐ ( พปชร.) นั้นอาจสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะตัวผู้นำพรรคไม่มีความน่าเชียร์ให้เป็นนายกฯ สส.ชุดใหญ่ก็หมดใจแล้ว

จะว่าไป เรื่องแมงลือแมงโม้ ทฤษฎีสมคบคิดในทางการเมืองก็มีมาตลอด อะไรๆ มันเปลี่ยนได้ตลอด ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ การให้คุณให้โทษที่ตกลงกันได้ในขณะนั้น ..นอกจากเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ .. ที่น่าสนใจอย่างมาก ก็สายสัมพันธ์ในรัฐบาล ตอนนี้ก็มีแมงลือแมงโม้เล่าให้ว่อนว่า “เพื่อไทยไม่ค่อยลงรอยกับภูมิใจไทยอยู่” ตั้งแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากกรณีปัญหาโดนร้องเรียน อดีตนายกฯแม้วครอบงำพรรคจนประสาทจะกินทั้งพรรคทั้งองค์กรอิสระ เพราะนักร้องขยันร้องเรียนเหลือเกิน ..และแก้รัฐธรรมนูญเรื่องประมวลจริยธรรมนักการเมือง ที่ดันไปใช้ประมวลฯ เดียวกับศาลและองค์กรอิสระ เป็นประมวลฯ ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติของ คสช.ทำให้พรรคการเมืองไม่มีส่วนร่างประมวลฯ และต้องผวากับโทษจริยธรรม ..เพื่อไทยนั้นอยากแก้ ภูมิใจไทยตอนแรกก็จะแก้ แต่สักพักก็มีพันหมื่นเหตุผลที่จะไม่แก้ เริ่มจากรายมาตราก็ประกาศไม่แก้แล้ว

ไม่มีภูมิใจไทยพรรคนึง ถ้าพรรคประชาชน ( ปชน.) จับมือขั้วรัฐบาลเพื่อแก้ เสียง สส.ก็ถึง แต่ปัญหาคือ “มันต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 5 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก” แล้วเรื่อง สว.ชุดนี้เป็นสีน้ำเงินนี่เขาก็โจษจันกันมาก วิธีคิดเชื่อมโยงคือถ้าภูมิใจไทยไม่เอา สว.ก็ต้องไม่เอาด้วย มันก็เลยชะงัก…ต่อมา เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามตินัดแรกก่อนเพื่อถามประชาชนว่า “ต้องการให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่” ปรากฏว่า สว.อยู่ๆ จะเอาประชามติสองชั้น คือ เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ ซึ่งคือบัญชีประเทศ และเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ผ่านประชามติ โดยฝ่าย สส.จะเอาเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ ดังนั้นก็อาจออกลูกต้องดองกฎหมาย 180 วันแล้วสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้ประชามติชั้นเดียว

ตอนนั้นก็ไม่ทราบจะมี “ไอ้เข้ขวางคลอง”อีกหรือเปล่า  ในระหว่างพิจารณาแก้มาตรา 256 แล้วแต่จะคิดวิธีขวางล่ะ ซึ่งอีกนานกว่าจะเห็น เพราะต้องผ่านประชามติให้แก้ ม.256 ก่อน ..ก็เอาเป็นว่า วาระรัฐธรรมนูญนี่เป็นวาระที่น่าเบื่อหน่ายมากๆ สำหรับการเมืองไทย ทางเลขาฯนก นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยก็ออกอาการแล้วว่า “จะแก้ไปทำไม” จากการที่เคยให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ยังชี้แจงประชาชนไม่ค่อยได้เลยว่า แก้แล้วประเทศชาติจะดีขึ้นอย่างไร

ซึ่งถ้าขวางกันมาก ..เพื่อไทยซึ่งอยากเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล.. ก็อาจ“เกิดอารมณ์”อยากเขี่ยภูมิใจไทยทิ้ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยอาจแอบฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลไว้แล้ว คือ เพื่อไทยนำ ซึ่งคงได้เสียง สส.กลับมาจากพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากที่ สส.บางคนแหกมติพรรคอยู่บ่อยๆ ก็เหมือนใจไม่อยู่พรรคแล้ว และพวกตัวจี๊ดๆ คะแนนดีๆ ก็มีข่าวจะกลับไปเพื่อไทย อย่าง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, น.ต.ศิธา ทิวารี, นายการุณ โหสกุล .. ต่อด้วยกล้าธรรม ที่มีกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา หนุนหลัง เป็นพรรคอันดับสอง และอาจมีการตั้งพรรคอื่นมาเป็นนอมินีให้ สส.รทสช. ไหลเข้า หากเห็นว่า “หัวหน้าพรรคไม่ช่วยสร้างกระแสพรรค” หรือไม่ก็ไหลเข้าประชาธิปัตย์กลับไป และดึงประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา มาร่วมตั้งรัฐบาล

แต่จัดการกับภูมิใจไทยไม่ง่ายหรอก เพราะกระแส,กระสุนเยอะไม่ใช่เล่น มีโอกาสได้ สส.เขตในหลายจังหวัดอยู่ บุรีรัมย์นั้นอาจเหมาจังหวัด ส่วนจังหวัดอื่นก็ต้องลุ้นว่า ชิงมาได้เยอะอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ โดยเฉพาะเขตเก่าของประชาธิปัตย์ รทสช. และ พปชร.( ที่ไม่ใช่กลุ่ม รอ.ธรรมนัส, นายสันติ พร้อมพัฒน์ ) และก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า สส.พรรคอื่น หรือผู้สมัครตัวจี๊ดๆ คะแนนสูงๆ จะไม่ไปภูมิใจไทย

ทางภูมิใจไทยเองก็ข่าวว่า ไม่น่าจะเอ็นจอยกับเพื่อไทยเท่าไรนักในช่วงนี้ จากการที่กฎหมายกัญชาก็ยึกยักไม่ผ่านสภาเสียที ตามมาด้วยเรื่องที่ดินเขากระโดง ซึ่งกรมที่ดิน โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ มีมติว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) เองที่ตีเส้นขอบเขตที่ดินตัวเองเกิน จึงไม่ยึดคืนที่เขากระโดงคืน รฟท.  เรื่องนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม สั่ง รฟท.เดินหน้าสู้ต่อ เอาที่ดินคืนมาให้ได้ ถ้าเกิดดันมีวิธีให้เรียกที่ดินคืน “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” กระทบหนักแน่ ก็สร้างอะไรๆ ไว้ในพื้นที่ตรงนั้นตั้งเยอะ

ก็ง่ายๆ คือแมงลือ แมงโม้ บอกว่า สองพรรคใหญ่ในรัฐบาลก็ปีนเกลียวกันเงียบๆ รอเวลาขึ้นว่า ใครระเบิดก่อนกัน เพื่อไทยก็ยัง “เกรงใจ”อยู่ เพราะอีกฝั่งมีอิทธิพลเหนือเสียง สว. กฎหมายฉบับสำคัญๆ ของรัฐบาลก็ต้องใช้เสียง สว. อย่างน้อยก็แก้รัฐธรรมนูญ จะให้ สว.ชุดนี้ออกก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ออกไปอย่างเดียว

แต่อย่างที่ว่า การเมืองมันเปลี่ยนได้ถ้าสมผลประโยชน์ เร็วช้าแค่ไหน ขึ้นกับสถานการณ์พลิกให้ต้องตัดสินใจ ตอนนี้สองพรรคมีคู่แข่งสำคัญคือพรรคประชาชน ( ปชน.) ถ้าใกล้ ๆ เลือกตั้งประเมินแล้วกระแส ปชน.แรง จนอาจเป็นตัวแปรสำคัญในการรวมเสียงรัฐบาล  ก็อาจไม่ชิงแตกคอกันไปก่อน ..การทำสำรวจพวกโพลอะไรก็ไม่รู้เชื่อได้แค่ไหน เพราะเดี๋ยวนี้มันมี “ผลหลอก”เยอะ เนื่องจากเก็บตัวอย่างอย่างมีอคติ เช่น เลือกจากกลุ่มเดิมๆ ที่ให้ความร่วมมือ, กลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกับผู้สำรวจ หรือบางคนก็จงใจให้ข้อมูลไม่ตรงกับที่คิดเพราะคิดไม่เหมือนกระแส รอบตัวในอินเทอร์เนตเชียร์พรรคนี้มาก ก็บอกไปว่าเลือกพรรคนี้ทั้งที่เลือกอีกพรรค ..ไปจนกระทั่งเขาเปลี่ยนความคิดก่อนเข้าคูหาได้

วันนี้ฟังหูไว้หูเรื่องนี้ก่อน ว่า มันเคยมีกระแสนี้เกิดขึ้น ซึ่งยังเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่