ข้อมูลข้างต้นนี้ทางนักวิชาการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพระบุไว้ หลังสำรวจพบว่า… กลุ่มผู้รับจ้างขับรถสาธารณะ” ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มเผชิญ “ความเสี่ยงทางปัญหาสุขภาพ” ที่เกิดขึ้นจากสภาพการทำงาน ซึ่งกรณีนี้อาจจะส่งผลกระทบ…

ปัญหาทางสุขภาพ” เป็น “ปัจจัยเสี่ยง”

สุ่มเสี่ยง” ต่อการทำงาน “ต่อการขับขี่”

อาจ “ส่งผลต่อความปลอดภัยบนถนน”

เกี่ยวกับกรณีนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้ เป็นการระบุไว้โดย รศ.ดร.อรพินท์ เล่าซี้ อาจารย์ สาขาวิชาพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของผลงานวิจัยด้านความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) ที่หลักใหญ่ใจความมีว่า…แม้วัยที่เพิ่มขึ้นจะบ่งบอกระดับประสบการณ์ หากแต่ในการขับขี่ยวดยาน “พฤติกรรมหลังพวงมาลัย” และ “ความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ” ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งถ้า “ไม่ดี-ไม่พร้อม” ก็อาจเป็น “ปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุ” …นักวิชาการท่านดังกล่าวระบุไว้

ทาง รศ.ดร.อรพินท์ ยังได้แจกแจงไว้อีกว่า… ภายใต้หลักการ “พัฒนาคนพัฒนาระบบสุขภาพ” ด้วยสมมุติฐาน “ขับขี่ปลอดภัย” ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของ การมีทักษะที่ดี ทั้งการบังคับรถ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า นั้น ทำให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาวิเคราะห์ถึง “พฤติกรรมหลังพวงมาลัย” ในกลุ่มแรงงานสูงวัย “ผู้สูงวัยอาชีพรับจ้างขับรถยนต์สาธารณะ” ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งก็ยังคงมี “ข้อถกเถียง” กันถึง “ข้อจำกัด”

เรื่อง “อายุสภาพร่างกาย” ผู้สูงวัย

ในการ “ทำอาชีพขับรถสาธารณะ”

จากความสนใจศึกษาดังกล่าว จึงเกิดโครงการประเมินสมรรถนะผู้รับจ้างขับรถยนต์สาธารณะสูงวัย จำนวน 300 ราย จำนวน 15 จุด ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อสำรวจเกี่ยวกับสภาพร่างกาย ทักษะการขับขี่ การใช้ความระมัดระวัง และปฏิภาณไหวพริบในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ซึ่งผลสำรวจพบว่า… แรงงานสูงวัยที่ประกอบอาชีพรับจ้างขับรถยนต์สาธารณะมีน้ำหนักเกินเสี่ยงเป็นโรค NCDs ถึงร้อยละ 75 ขณะที่ร้อยละ 42 เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องพึ่งยา และ ร้อยละ 52 มีประสาทสัมผัสต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเกิดจากสาเหตุสำคัญคือการ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในรถจนขาดการเคลื่อนไหว

จน “ขาดกิจกรรมร่างกายที่เหมาะสม”

และ “ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเจ็บป่วย”

นอกจากนี้ยังพบว่า…กลุ่มแรงงานสูงวัยที่ทำอาชีพนี้ราวร้อยละ 30 เคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และ ร้อยละ 46มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อาทิมีภาวะความจำที่ถดถอย โดยนักวิชาการท่านเดิมแสดงความเป็นห่วงว่า…แม้สภาพยานพาหนะหรือรถจะมีความสมบูรณ์เพียงใด แต่ถ้า ผู้ขับขี่อยู่ในสภาพไม่พร้อม”ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหา หรือลดจำนวนการ “เกิดอุบัติเหตุ” และการบาดเจ็บบนท้องถนนได้ ดังนั้น ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย เพื่อลดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บบนท้องถนน …ทาง รศ.ดร.อรพินท์ เล่าซี้ ระบุไว้

อนึ่ง นอกจากข้อมูลโดยนักวิชาการท่านดังกล่าวนี้แล้ว ก็มีอีกผลศึกษาน่าสนใจ โดย รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง และ วาศินี กลิ่นสมเชื้อ นักวิจัย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ชี้ปัญหาไว้ผ่านงานวิจัย “ชีวิต สุขภาพ และการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางในเมือง : การศึกษากลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานย้ายถิ่นในกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยได้สำรวจ “คนขับแท็กซี่” 300 คน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า… 1 ใน 3 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัวความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

ส่วน “สาเหตุ” ทำให้กลุ่มตัวอย่างนี้ ป่วยมีโรคประจำตัว นั้น ส่วนใหญ่ เกิดจากเงื่อนไขด้านอาชีพ ที่ทำให้ต้องนั่งขับรถเป็นเวลานาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเมื่อจำแนกเป็น ปัญหาร่างกาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มักจะมีอาการต่าง ๆ อาทิ ปวดเมื่อยตามตัว เช่น ข้อเข่า หลัง และมีปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ จากการต้องอั้นปัสสาวะเป็นเวลานานบ่อย ๆ ขณะรับส่งผู้โดยสาร ส่วน ปัญหาจิตใจ นั้น ที่พบมากได้แก่ เครียดซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาการจราจร รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย และพฤติกรรมของผู้โดยสาร รวมถึงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น…

แรงงานอาชีพนี้เผชิญปัญหาสุขภาพอย่างมาก แต่การเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์กลับไม่ครอบคลุมและพบข้อจำกัดการเข้าถึง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาระบบสุขภาพ แต่ส่งผลต่อปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนด้วย” …เป็นมุมสะท้อนน่าคิด กรณี “สุขภาพผู้ขับขี่สูงวัย” ที่ก็ชวนให้คิดโยงถึง “การเดินทางช่วงปีใหม่” ที่ใกล้จะมาถึง

ผู้สูงวัย” กับ “ความปลอดภัยทางถนน”

โชเฟอร์รถรับจ้างสูงวัย” ก็ “ต้องระวัง”

มือเก๋า” แต่ “สุขภาพไม่ดีก็เสี่ยงนะ!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์