สร้างเสร็จอีก 1 เส้นทาง สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ “ลพบุรี-ปากน้ำโพ” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็น 1 ใน 7 เส้นทางของทางคู่ระยะ(เฟส) 1 จะเปิดใช้บริการเมื่อใด….ติดตามกันเล้ยย!!
ทบทวนโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 มี 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. วงเงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ก่อกำเนิดในรัฐบาลยุคคสช.ปี 2559 ภายใต้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสนับสนุนการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากระบบถนนสู่ระบบรางให้มากยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาการเดินทางจากทางเดี่ยวที่ต้องรอสับหลีกรางได้อย่างน้อย 30% ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟ เพิ่มความปลอดภัย และทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น
โดยก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการแล้ว 6 เส้นทาง 1.สายตะวันออกช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา–ชุมทางคลองสิบเก้า–ชุมทางแก่งคอย 106 กม. 2.สายอีสานช่วงชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น 187 กม.และสายใต้นครปฐม–ชุมพร ระยะทาง รวม420 กม. แบ่งเป็น3เส้นทาง(3ช่วง) ช่วงนครปฐม – หัวหิน 169 กม., หัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. และประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร 167 กม. เหลือสายอีสานช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. กำลังก่อสร้าง
โฟกัสเส้นทางสายเหนือช่วงลพบุรี–ปากน้ำโพมีระยะทาง 148 กม. วงเงินลงทุน 2.15 หมื่นล้านบาท งานก่อสร้างเสร็จ 100% ทั้ง 2 สัญญา ผู้รับจ้างส่งมอบงานให้รฟท.ได้ทันตามตามกำหนดวันสิ้นสุดสัญญา
สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ – โคกกระเทียม ระยะทาง 32 กม.วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับสูงประมาณ 10-20 เมตร ด้วยระยะทาง 19 กม. และระดับพื้นราบ 13 กม. สิ้นสุดสัญญาวันที่ 18 ก.ย.2567 มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็นเอสเอช เป็นผู้รับจ้าง ทาง รฟท. ตรวจรับงานแล้ว
สำหรับทางรถไฟยกระดับจะเริ่มตั้งแต่ออกจากสถานีบ้านกลับ จ.สระบุรี และเริ่มลดระดับลงสู่พื้นราบก่อนเข้าสู่บริเวณสถานีโคกกระเทียม จ.ลพบุรี โดยก่อสร้างสถานีใหม่ 1 แห่งเป็นสถานียกระดับชื่อ”สถานีลพบุรี2” บนทางหลวงหมายเลข 366 หรือทางเลี่ยงเมืองลพบุรี( ***แยกเส้นทางออกจากแนวเส้นทางรถไฟเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบพระปรางค์สามยอดและโบราณสถานที่สำคัญของจ.ลพบุรี)
“นายสปีด” ยกให้เป็นไฮไลต์สถานีรถไฟลอยฟ้าเพียงแห่งเดียวในเส้นทางและทางรถไฟยกระดับยาวที่สุดในประเทศไทย ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟจะได้ตื่นตาตื่นใจเพลิดเพลินกับวิวมุมสูงของธรรมชาติอันสวยงามและความเขียวขจีของท้องทุ่งนา
สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค–ปากน้ำโพ ระยะทาง116 กม.วงเงิน 8.6พันล้านบาท เป็นโครงสร้างระดับพื้นราบทั้งหมด ก่อสร้างสถานีใหม่ 6 สถานี ก่อสร้างทดแทนสถานีเดิม 11 สถานี และอาคารควบคุมการเดินรถ (CTC) ที่สถานีนครสวรรค์ 1 แห่งสิ้นสุดสัญญาวันที่ 19 ต.ค.2567 มีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง รฟท. อยู่ระหว่างตรวจรับงาน
ส่วนสัญญาที่ 3 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม วงเงิน 2.7 พันล้านบาท มีกิจการร่วมค้า บีที – ยูเอ็น ประกอบด้วย บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) และบริษัท ยูนิค ฯ เป็นผู้รับจ้าง อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้ผลงาน 49.59% ล่าช้ากว่าแผน 50.41% สิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 ก.ค.2568
ระบบอาณัติสัญญาณเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน พนักงานขับรถไฟทำหน้าที่โยนห่วงและรับห่วงทุกสถานี ขณะที่ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมใหม่ จะเป็นระบบไฟสี ควบคุมระบบอาณัติสัญญาณด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นการขอทางและให้ทางด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถไฟมากขึ้น
เมื่อการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณยังไม่แล้วเสร็จ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง จะประสานฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ เพื่อนำระบบทางสะดวกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Token) มาใช้ในการเดินรถชั่วคราว ระหว่างที่การติดตั้งระบบอาณัติยังไม่เสร็จ(รูปแบบเดียวกับเปิดบริการในเส้นทางสายใต้) เพื่อให้สามารถเปิดบริการเดินรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี–ปากน้ำโพได้
สำหรับE-Token พนักงานขับรถไฟทำหน้าที่โยนห่วงและรับห่วงเช่นเดิมแต่จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยมากขึ้น ซึ่งอยู่นอกขอบเขตงานของผู้รับจ้างสัญญา 3 จึงต้องหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป
ขณะเดียวกันต้องรอความชัดเจนในการจัดการเดินรถของขบวนรถธรรมดาว่าจะใช้เส้นทางผ่านสถานีลพบุรีเดิม หรือสถานีลพบุรี2 (แห่งใหม่)ที่ห่างสถานีเดิมประมาณ 9 กม. อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถึงสิ้นเดือน พ.ย.2567 โดยก่อนหน้านี้ รฟท. มีแผนจะย้ายขบวนรถมาให้บริการที่สถานีลพบุรีแห่งใหม่ 22 ขบวน และสถานีลพบุรีเดิม 8 ขบวน(เป็นขบวนรถท้องถิ่นทั้งหมด)
คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเปิดบริการเดินรถได้ต้นปี 2568 เลื่อนจากแผนงานเดิมที่วางเป้าหมายเปิดบริการตลอดเส้นทางช่วงปลายปี 2567 รวมทั้งมีความพร้อมในการใช้ระบบอาณัติสัญญาณใหม่ได้ประมาณปลายปี 2568 หรือไม่เกินต้นปี 2569 เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางรถไฟมากขึ้น
ข้อมูลการศึกษาระบุว่าในปีแรกของการเปิดบริการจะมีผู้โดยสาร 33,880 ต่อวัน และอีก 20 ปี จะเพิ่มเป็น 81,130 คนต่อวัน ขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้า 25,910 ตันต่อวัน และอีก20 ปี จะเพิ่มเป็น 60,430 ตันต่อวัน
ตลอดเส้นทางของรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ มี 22 สถานี ประกอบด้วย สถานีบ้านกลับ, สถานีป่าหวาย, สถานีลพบุรี1,(เส้นทางยกระดับที่แยกออกไป 19 กม. มีสถานีลพบุรี2) สถานีท่าแค, สถานีโคกกระเทียม, สถานีหนองเต่า, สถานีหนองทรายขาว, สถานีบ้านหมี่, สถานีห้วยแก้ว, สถานีจันเสน, สถานีช่องแค, สถานีโพนทอง,สถานีบ้านตาคลี, สถานีดงมะกุ, สถานีบ้านหัวหวาย, สถานีหนองโพ, สถานีหัวงิ้ว, สถานีเนินมะกอก, สถานีเขาทอง, สถานีนครสวรรค์ และสถานีปากน้ำโพ
อีกไม่นานเกินรอ…ได้สัมผัสบรรยากาศ”สถานีลพบุรี2” หนึ่งเดียวของสถานีลอยฟ้าบนเส้นทางรถไฟทางคู่ยกระดับยาวที่สุดของประเทศไทย
……………………………………..
นายสปีด
***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต