ทั้งนี้ นอกจาก “เมา–ง่วง–ประมาท” ที่เป็น “ปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน” กับเรื่อง “ทักษะการขับขี่…นี่ก็สำคัญ” อาจเป็นสาเหตุเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน โดยเฉพาะ “ผู้ขับขี่มือใหม่” ที่อาจจะยัง “ขาดประสบการณ์ขับขี่ปลอดภัย” ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการศึกษาไว้…
“ผู้ขับขี่มือใหม่” นี่ “เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ”
ผู้เกี่ยวข้อง “น่าพิจารณา–น่าตระหนัก”
เพื่อ…“ป้องกันการเกิดเหตุเศร้าสลด!!”
สำหรับการศึกษากรณีนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล เป็นข้อมูลจาก “รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพผู้ขับขี่หน้าใหม่” โดย ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ทุนสนับสนุนของ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ที่ดำเนินการศึกษาสถานการณ์การออกใบอนุญาตขับขี่ของไทยช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 และพบว่า… ในขณะที่อัตรารถจดทะเบียนใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่สัดส่วนการขอรับใบอนุญาตขับขี่กลับมีอัตราน้อยกว่าหลายเท่าตัว ซึ่งสะท้อนว่า… ผู้ถือครองใบอนุญาตขับขี่มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ขับขี่จริง!! …นี่เป็นข้อมูลน่าตกใจที่การศึกษานี้ค้นพบ
ทั้งนี้ ดร.สลิลธร ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ได้ทำการศึกษาไปที่เรื่องของ “กระบวนการออกใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว” ด้วย เนื่องจากมองว่า… “ทักษะขับขี่ปลอดภัย” เป็นทักษะที่ต้องได้รับการอบรมและทดสอบเพื่อให้ผ่านมาตรฐานในการได้รับใบอนุญาต ซึ่งการขับรถโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการอย่างถูกต้องย่อมส่งผลให้ผู้ขับขี่ไม่มีหลักประกันความสามารถและทักษะขับขี่ที่เพียงพอต่อการขับรถบนท้องถนนจริง และมีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่าผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาต จึงเกิดความสนใจที่จะศึกษาปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการขอรับใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว เพื่อวิเคราะห์ข้อจำกัดภายใต้กระบวนการนี้
![](https://t.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/11/scoop_tue26-2.jpg)
ผู้ศึกษาวิจัยกรณีนี้ระบุถึงผลศึกษาไว้ว่า… จากการศึกษาและทบทวนโครงสร้างของกระบวนการออกใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวของไทยในปัจจุบัน พบว่า… ระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวยังคงมีปัญหาและข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพอันมีที่มาจากปัญหาต่าง ๆ ดังนี้…
ขาดการกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมระหว่างถือครองใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว เช่น ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวนั้น สามารถที่จะขับขี่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เช่นเดียวกับผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ชนิดอื่น, หลักเกณฑ์ทดสอบยังไม่ครอบคลุมทักษะที่จำเป็นต่อการขับขี่ เช่น ทักษะคาดการณ์อุบัติเหตุ ที่จะอยู่ในลักษณะของข้อสอบปรนัยเท่านั้น ซึ่ง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่ควรจะต้องประเมินผลจากทักษะการควบคุมรถในการขับขี่จริงเป็นหลัก
ขาดการบันทึกชั่วโมงและประสบการณ์ขับขี่ เพื่อใช้ประเมินผลการขับขี่ในระหว่างที่ถือครองใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว โดยปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การบันทึกชั่วโมงการขับขี่ รวมถึงประสบการณ์การขับขี่ของผู้ขับขี่ ในระหว่างการถือครองใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว ส่งผลให้ ขาดการติดตามประเมินผลทักษะการขับขี่ในระหว่างที่ผู้ขับขี่ยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น ซึ่งควรเป็นอีกหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำคัญในการออกใบอนุญาตขับขี่แบบเต็มรูปแบบ, ขาดการประเมินผลการขับขี่ก่อนเปลี่ยนไปใช้ใบอนุญาตเต็มรูปแบบที่ผู้ขับขี่สามารถ ดำเนินการได้โดยไม่ต้องอบรมหรือทดสอบเพิ่มเติม
ผู้มีใบอนุญาตมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนผู้ขับขี่จริงมาก ซึ่งสถิติใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ปี 2564 พบว่ามีผู้ขับขี่ที่ถือครองใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์แค่ร้อยละ 59 จากจำนวนรถที่สัญจรจริงบนถนน, ระบบตัดแต้ม–ตัดคะแนนความประพฤติ ยังไม่สอดคล้องกับแนวทางที่เหมาะสมกับการกำกับดูแลผู้ถือครองใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว ที่อาจยังขาดประสบการณ์และทักษะในการขับขี่ ซึ่งควรถูกกำกับดูแลเป็นพิเศษหรือต้องเข้มงวดกว่าผู้ถือใบอนุญาตชนิดอื่น ๆ, ขาดการสื่อสารถึงความสำคัญของการออกใบขับขี่ ส่งผลให้ ไม่มีหลักประกันความสามารถและทักษะขับขี่ที่เพียงพอ
ทั้งนี้ “ข้อเสนอแนะ” เพื่อป้องกันปัญหาจากเรื่องนี้ ดร.สลิลธร ทองมีนสุข ก็ได้จัดทำไว้เป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้… 1.ควรปรับปรุงการอบรมและการทดสอบ เช่น กำหนดให้มีการทดสอบทุกท่าทดสอบ มีการนำเครื่องจำลองขับรถ (Simulator) มาใช้ทดสอบ รวมถึงกำหนดให้ทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุเป็นการทดสอบภาคปฏิบัตินอกเหนือจากการทดสอบแบบปรนัย, 2.ควรกำหนดให้มีป้ายสัญลักษณ์ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตชั่วคราว เพื่อนำไปติดไว้ยังรถของตนในจุดที่มองเห็นได้ง่าย
3.กำหนดให้มีผู้ดูแลเป็นพิเศษในผู้ขับขี่ระยะเริ่มต้น ให้ขับขี่ได้เฉพาะภายใต้การดูแล และไม่ให้มีผู้โดยสารนั่งข้างหน้า เว้นแต่มีผู้ดูแลไปด้วย, 4.จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์เป็น 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในผู้ขับขี่มือใหม่-ผู้ถือใบขับขี่ชั่วคราว, 5.จำกัดพื้นที่และความเร็ว ในกลุ่มผู้ขับขี่มือใหม่-ผู้ถือใบขับขี่ชั่วคราว, 6.จำกัดความเร็วสูงสุดของผู้ขับขี่ในระยะเริ่มต้น เช่น ไม่ให้เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง …เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะ แต่เทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง…อะไร ๆ ก็คงจะยังเดิม ๆ…
ก็เตือนไว้…“ขับขี่มือใหม่ยิ่งต้องระวัง!!”
“ทักษะยังน้อย” ก็ “ยิ่งอย่าประมาท!!”
“ไม่เช่นนั้นอาจมีเหตุสลดรับปีใหม่!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์