ทั้งนี้ ด้วยภาระที่หนักอึ้งในการดูแลคนเป็นทาสยา ก็จึงเกิด “ปรากฏการณ์สะเทือนใจ” หรือเกิด “ภาพอันน่าสลดใจ” ที่พ่อแม่-ครอบครัว “แจ้งจับ” หรือ “กักขัง” ลูก-ญาติที่เป็นทาสยา เพราะ “คุมไม่ไหว” หรือเพื่อ “ป้องกันเหตุร้าย” จากกรณี “คลั่งยาอาละวาด” ที่ในไทยเกิดต่อเนื่อง ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชี้ไว้ว่ากรณีนี้เป็น “ระเบิดเวลาที่บึ้มแล้ว”และ “บึ้มต่อเนื่องเป็นลูกโซ่” อีกต่างหาก ท่ามกลางความฉงนของสังคมว่า“สถานการณ์ยาเสพติดในไทยไฉนไม่บรรเทาเบาบางลงสักที??”…

ทั้ง ๆ ที่ “มีการจับกุมแบบรายวัน”

แต่ทว่า “ปัญหานี้ไม่เพียงไม่ลดลง”

ยัง “ดูเหมือนจะฟูเฟื่องได้น่าตกใจ!!”

อนึ่ง ในส่วนการทำงาน-การปฏิบัติการของทางเจ้าหน้าที่ ก็ต้อง “ให้กำลังใจชื่นชม” เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติภารกิจอย่าง “เสียสละเสี่ยงตาย” เพื่อที่จะหยุดวงจรยาเสพติดไม่ให้แพร่หลายกระจายไปในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม แต่ในมุมความสงสัยของประชาชนคนไทยเกี่ยวกับปัญหา “ยาเสพติด” ที่ดูเหมือน “ยิ่งจับยิ่งปราบยิ่งเยอะ??” นั้น ในมุมนี้ประเด็นนี้ก็น่าที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันหาคำตอบเช่นกัน ยิ่งพิจารณาจาก รายงานการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 57 โดยกองควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 ก็ยิ่ง “ชวนอึ้งกับตัวเลขของกลางที่ถูกทำลาย!!”…

รวมแล้วมีมากกว่า 2 แสนกิโลกรัม!!

มากสุดคือ “ยาบ้าเมทแอมเฟตามีน”

ทั้งนี้ โฟกัส “ปัจจัย-ตัวกระตุ้น” ที่อาจส่งผลทำให้ “ยาเสพติดฟูเฟื่อง” กับกรณีนี้ก็มีการวิเคราะห์น่าสนใจที่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ ณ ที่นี้ ซึ่งอาจช่วยฉายภาพให้คนไทยเห็นสถานการณ์รุนแรงของปัญหายาเสพติดได้ชัดขึ้นไม่มากก็น้อย โดยข้อมูลการวิเคราะห์ดังกล่าวมาจากรายงาน “จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 (Thai Health Watch 2024)” ที่จัดทำโดย สสส. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมตระหนักถึง “สถานการณ์ยาเสพติดในไทย” ในปัจจุบัน…

ยุคที่ “ยาเสพติดหาได้ง่ายเข้าถึงง่าย”

ส่งผล “ทำให้วงจรยาเสพติดเฟื่องฟู!!”

ในรายงานดังกล่าวได้มีการเปิดเผยข้อมูลน่าสนใจไว้ว่า… จากข้อมูล กรมราชทัณฑ์ พบว่า “นักโทษคดียาเสพติดยังคงครองแชมป์เป็นอันดับ 1” โดยสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศ (ณ วันที่ 1 ม.ค. 2566) มีจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งสิ้น 206,361 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 78.67 ของผู้ต้องขังทั่วประเทศ ซึ่งประเภทยาเสพติดอันดับต้น ๆ ที่พบมากสุด คือ ยาบ้า 129,686 คน รองลงมาเป็น ยาไอซ์ 17,762 คน …นี่เป็นตัวเลขที่กรมราชทัณฑ์มีรายงานไว้ ในขณะที่สถิติการบำบัดก็มีตัวเลขน่าคิด โดยข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ปี 2565 มีผู้เข้าบำบัดยาถึง 120,915 คน

นี่ไม่รวม “ที่ยังไม่ถูกจับไม่ได้บำบัด”

ที่อาจ “คลั่งอาละวาดได้ทุกขณะจิต!!”

นอกจากข้อมูลสถิติแล้ว ในรายงานโดย สสส. ดังกล่าวยังระบุไว้ถึง “ปัจจัย” ที่อาจทำให้ “วงจรยาเสพติดเฟื่องฟู” สรุปได้ว่า… อาจจะมาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ที่เป็น“ตัวกระตุ้นทำให้ยาเสพติดเข้าถึงง่ายซื้อขายสะดวก” ได้แก่…

ปัจจัยที่หนึ่งสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดถูกลง” โดยปัจจุบันสารเคมีสำหรับผลิตยาเสพติดมีราคาไม่สูงเท่าในอดีต อีกทั้งยังหาซื้อได้ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่บางแพลตฟอร์มขายในราคากิโลกรัมละไม่ถึง 100 บาทก็มี!! ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ต้นทุนการผลิตยาเสพติดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ, ปัจจัยที่สองค่าขนส่งถูกลง” เมื่อเทียบกับในยุคอดีตที่การลักลอบขนส่งยาเสพติดนั้นจะต้องทำโดยใช้รถหรือเรือเท่านั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงจะเจอด่านตรวจได้ จึงทำให้มีต้นทุนในการขนส่งสูงมาก แต่ปัจจุบันขบวนการค้ายาเสพติดมีการใช้วิธีลักลอบจัดส่งทางพัสดุ ส่งผลทำให้ต้นทุนต่ำลง อีกทั้งยังขนส่งได้รวดเร็วขึ้น

ปัจจัยที่สามเทคโนโลยีการผลิตดีขึ้น”ซึ่งการที่อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตยาเสพติดพัฒนาขึ้น ทำให้สามารถผลิตยาเสพติดแต่ละครั้งได้ในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าในอดีตถึง 100 เท่า อีกทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลยังทำให้สามารถตั้งแหล่งผลิตยาเสพติดได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผลิตในบริเวณพื้นที่ตะเข็บชายแดนอย่างเดียว, ปัจจัยที่สี่กลไกการตลาดเปลี่ยนไป” โดยเมื่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนขนส่งลดลง รวมทั้งมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น เหตุนี้จึงทำให้ผู้ผลิตยาเสพติดสามารถผลิตออกมาได้ในปริมาณมาก อีกทั้งรูปแบบการผูกขาดการค้ายาเสพติดแบบในอดีต ที่ทำได้เฉพาะเพียงผู้มีอิทธิพล ก็ค่อย ๆ หายไป ซึ่งในยุคใหม่พบว่า…ขบวนการค้ายาเสพติดได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้ายารายใหม่สามารถขายยาได้เอง ผ่านช่องทางโซเชียล หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ …เหล่านี้เป็นภาพ “สถานการณ์ปัจจัย”ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่ในรายงานดังกล่าวข้างต้นได้สะท้อนไว้

ข้อสงสัย “ยิ่งจับยิ่งปราบยิ่งเยอะ??”

ปุจฉา “ตลาดค้ายาเสพติดฟูเฟื่อง??”

มี “4 ปัจจัยน่าคิด-น่าโฟกัสจัดการ!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์