เนื้อความข้างต้นเป็นข้อมูล “สถานการณ์การพนันออนไลน์” ในต่างประเทศ ที่ก็มีการระบุให้สังคมไทยจับตา “กีฬาแฟนตาซี (Fantasy Sport)”เพราะอาจพัฒนาเป็น “การพนันอุบัติใหม่??” ที่อาจยิ่งส่งผลทำให้ “จำนวนนักพนันหน้าใหม่เพิ่มขึ้น” โดยมุมสะท้อนเรื่องนี้ถูกฉายภาพไว้ในเวทีเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับ “กีฬาแฟนตาซี” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากต่างประเทศ…
นักเล่นเกมชาวไทยก็ให้ความนิยม
ตอนนี้ “ฟุตบอลแฟนตาซี” กำลังฮิต
และก็มีการระบุให้สังคมไทยจับตา??
เกี่ยวกับ “กีฬาแฟนตาซี” ที่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล… ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการสะท้อนไว้ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือชื่อ “ฟุตบอลแฟนตาซี : ฤาการพนันอุบัติใหม่ในสังคมไทย?” จัดโดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากทาง สสส. โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และนักเล่นเกมกีฬาแฟนตาซี ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลากหลายประเด็น ซึ่งเวทีเสวนาได้มีการให้ข้อมูลถึง “เกมกีฬาแฟนตาซี” ไว้ว่า… มีจุดเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเกมที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อเล่นกันเองในหมู่เพื่อนฝูงมานานมากแล้ว…
สำหรับ ประเทศไทย กีฬาแฟนตาซีที่ “นิยมในกลุ่มนักเล่นเกม” ได้แก่ “เกมฟุตบอลแฟนตาซี” ซึ่งเมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีการใช้งานได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น ทำให้มีการพัฒนาเกมฟุตบอลแฟนตาซีให้มีความเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขั้นมีการพัฒนารูปแบบให้เป็น เกมฟุตบอลแฟนตาซีพรีเมียร์ลีก หรือที่นักเล่นเกมรู้จักกันดีในชื่อ “FPL” ซึ่งมีที่มาจากลีกฟุตบอลชื่อดังของอังกฤษ และเมื่อเข้ามาในไทยก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักเล่นชาวไทย …นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้น
เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตก็มีส่วน
ทำให้“เกมรูปแบบนี้ได้รับความนิยม”
จากความฮิต จากการที่“เกมฟุตบอลแฟนตาซี”ได้รับความนิยมสูงในหมู่นักเล่นเกมคนไทย ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า… อิทธิพลของเกมรูปแบบนี้จะเป็นปัจจัยทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงการพนันออนไลน์ได้ง่ายขึ้นหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้เป็น “ปุจฉา” ที่เวทีนี้หยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.คุณวุฒิ บุญฤกษ์ นักวิชาการอิสระ จารุวัฒน์ พริบไหว สื่อมวลชนกีฬา พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกันหาคำตอบว่า“ฟุตบอลแฟนตาซี”นั้น…
“จะเป็นการพนันอุบัติใหม่หรือไม่??”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ หนึ่งในคณะนักเขียนและผู้วิจัยเรื่องนี้ ระบุไว้ว่า… เกมกีฬาแฟนตาซีมีจุดเด่นสำคัญคือ สามารถเลือกนักกีฬาที่มีตัวตนจริง ๆ เข้ามาไว้ในทีมของตัวเองที่สร้างขึ้นได้ ซึ่งความที่การดึงนักกีฬาที่มีชื่อเสียงให้มาอยู่ร่วมกันนั้นเป็นเรื่องยาก หรืออาจเกิดขึ้นไม่ได้ในโลกความเป็นจริง ทำให้เกมกีฬาแฟนตาซี ตอบโจทย์ความฝันของนักเล่นเกมหลายคน ซึ่งเกมกีฬาแฟนตาซีชนิดแรกที่เล่นกัน ได้แก่ กีฬาเบสบอล ก่อนจะพัฒนาสู่กีฬาชนิดอื่น ๆ และในยุคแรกการเล่นเกมจะเล่นผ่านกระดาษและปากกา จนเมื่อเข้าสู่ยุคออนไลน์ก็เปลี่ยนเป็นการเล่นบนอินเทอร์เน็ต …ผศ.ดร.ณัฐกร ระบุ
และนักวิจัย-หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ “ฟุตบอลแฟนตาซี : ฤาการพนันอุบัติใหม่ในสังคมไทย?” ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเกมกีฬาแฟนตาซีนี้เอาไว้อีกว่า… การที่กีฬาแฟนตาซีได้รับความนิยมจากนักเล่นในเวลารวดเร็วได้ นั่นก็เป็นเพราะเกมนี้ช่วยทำให้ฝันของหลายคนเกิดขึ้นได้ ภายในโลกเสมือนจริง หรือโลกที่สมมุติขึ้นมาผ่านเกมดังกล่าวนี้ ทำให้เกมนี้จึงฮิตมากในหมู่คนสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกีฬาเบสบอล และอีกจุดที่ทำให้เกมนี้มีเสน่ห์ดึงดูด ก็คือการ อิงผลคะแนนจากการแข่งจริง และการที่ “กีฬาแฟนตาซี”ถูกยกเว้นจากกฎหมายปราบปรามการพนันออนไลน์ของสหรัฐ ทำให้ตลาดนักเล่นจึงขยายตัวรวดเร็ว…
รวมถึง “พัฒนารูปแบบให้เล่นสนุกขึ้น”
ไม่ต้องแข่งเป็นฤดูกาล…เน้นแข่งระยะสั้น
ขณะที่ใน อังกฤษ กีฬาแฟนตาซีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “เกมฟุตบอล” โดยมีทั้งการแข่งขันในรายการทีวี หรือแม้แต่มีโรงเรียนสอนเล่นฟุตบอลแฟนตาซีเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงเกิด “ระบบลีกแข่งขันย่อย” ที่ให้นักเล่นแข่งกันเองในกลุ่มตัวเอง จนเกิดการ “วางเงินเดิมพัน” และขยายเป็น “กลุ่มแข่งขันแบบเปิด” ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นนอกกลุ่มเข้ามาแข่งได้ ซึ่งจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นเรื่อยมานี้ ทำให้มีนักวิชาการให้ความสนใจศึกษาถึง “ความสัมพันธ์” ของ “เกมกีฬาแฟนตาซี” นี้ กับ “การพนันออนไลน์” ซึ่งก็พบว่า… “เกมกีฬาแฟนตาซี” ได้ถูกเว็บพนันออนไลน์ใช้เป็น “ช่องทาง หรือเครื่องมือในการดึงดูด” ให้คน “เข้าสู่วงการการเล่นพนันออนไลน์” …นี่เป็นกรณีในต่างประเทศเกี่ยวกับ “กีฬาแฟนตาซี” ที่เป็น “เกม”
ส่วนในไทย “มีการชี้ให้มองรอบด้าน”
เพื่อ “ไม่ให้เกมตกเป็นจำเลยสังคม”
กรณีในไทยนี่มาดูกันต่อตอนหน้า…
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์