ทุบสถิติต่อเนื่องสำหรับตัวเลขผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าหลากสีที่เปิดบริการแล้ว 8 เส้นทาง 8 สี ล่าสุดกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดตัวเลขผู้โดยสาร”วันลอยกระทง” ศุกร์ 15 พ.ย. 2567 รวมทั้งสิ้น 1,897,655 คน สายสีน้ำเงินนิวไฮ 558,165 คน สูงที่สุดในรอบ20ปีเต็มตั้งแต่เปิดบริการเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2547 ขณะที่วันศุกร์ 8 พ.ย. 2567 สายสีแดงนิวไฮ 46,309 คน

รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคมนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ใช้วาระผู้โดยสารรถไฟฟ้านิวไฮยืนยันคำมั่นว่า นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะใช้ได้ในทุกเส้นทาง ทุกสี ภายในเดือน ก.ย.2568 อย่างแน่นอน เพื่อลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับประชาชนเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ใช้นโยบายนำร่องกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงไปแล้ว

โดยมอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เร่งศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของรูปแบบและมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่น(Congestion Charge) หรือ”ค่ารถติด” ทั้งพื้นที่จัดเก็บ อัตราค่าธรรมเนียมฯ การชำระเงิน และผลที่ได้รับของประเทศต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 6 เดือน หรือประมาณกลางปี 2568

เพื่อนำรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมฯเข้าสมทุบกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง นำเงินไปใช้ซื้อคืนกิจการรถไฟฟ้าทุกสายจากเอกชนประมาณ 2 แสนล้านบาท และสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รวมทั้งจัดทำกฎหมายใหม่ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลไม่มีอำนาจจัดเก็บเป็นอำนาจของกรุงเทพมหานคร(กทม.)

นายสุริยะ บอกด้วยว่า รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องนี้ จากการสำรวจข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า มีคนเห็นด้วย 60% ไม่เห็นด้วย 40% แต่พอช่วงหลังผู้คนกลับไม่เห็นด้วยมากกว่าสาเหตุจากยังไม่มีรายละเอียดการดำเนินงานที่ชัดเจนอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ จึงต้องเร่งนำข้อมูลมาทำความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะขอบเขตว่าจะเก็บใครบ้าง พื้นที่(โซน)ใด ยืนยันว่าจะไม่จัดเก็บผู้ที่อาศัยในโซนจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ

ด้านนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม แจกแจงว่า มีหลายประเทศที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ แล้วประสบความสำเร็จอย่างดี อาทิ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ, ประเทศสิงคโปร์, สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และมิลาน ประเทศอิตาลี ทำให้การจราจรติดขัดลดลง มีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น แม้ก่อนเริ่มใช้มาตรการประชาชนจะคัดค้าน แต่หลังเริ่มใช้ประชาชนสนับสนุน และยอมรับมากขึ้น

แต่ละประเทศมีระบบจัดเก็บแตกต่างกันไป อาทิ สิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีวิทยุระบุความถี่ (RFID) เก็บค่าธรรมเนียมฯอัตโนมัติ จากยานพาหนะที่ติดตั้ง IU ที่ผ่านไปใต้ประตู ERP เป็นต้น

เบื้องต้นคาดว่าจะนำรูปแบบของลอนดอนประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมของเมืองคล้ายกรุงเทพฯ และดำเนินงานเกี่ยวกับระบบขนส่งสีเขียว (Green Transport) และเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการ United Kingdom Partnering for Accelerated Climate Transitions (UK PACT) อยู่แล้ว

อังกฤษเก็บข้อมูลจากประชาชนทั้งก่อน และหลังเริ่มโครงการโดยก่อนทำยอมรับ 39% เมื่อเริ่มทำแล้วยอมรับเพิ่มเป็น 54% ใช้ระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (ANPR) ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง รัศมี 21 ตร.กม. จัดเก็บวันจันทร์–ศุกร์ 07.00-18.00 น. และวันเสาร์–อาทิตย์ 12.00 -18.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตรา 15 ปอนด์ต่อวัน (ประมาณ 658 บาท) ชำระเงินได้ในช่องทางแอปพลิเคชัน และออนไลน์ ผลลัพธ์การจราจรติดขัดลดลง 16% และมีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18%

โฆษกกระทรวงคมนาคม บอกคีย์เวิร์ดสำคัญที่ประชาชนอังกฤษ ยอมรับมาตรการมากขึ้น เพราะ รัฐบาลทำตามสัญญาที่แจ้งไว้กับประชาชนว่า เมื่อเก็บค่าธรรมเนียมฯ แล้ว จะนำรายได้มาพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้ามากขึ้น 20% ทำให้ประชาชนสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง รวมทั้งไม่ปรับขึ้นค่าโดยสาร

ในส่วนของไทยพร้อมเดินหน้ามาตรการทันทีเมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ ควบคู่กับการวิจัยสอบถามความคิดเห็นประชาชนด้วย สนข. ศึกษาอัตราค่าธรรมเนียมไว้บ้างแล้วเก็บ 50-120 บาทต่อวัน แต่เบื้องต้นนายสุริยะ ให้นโยบายที่ 50 บาท/วันก่อน โดยใช้เทคโนโลยีคล้ายระบบM-Flow ตรวจจับป้ายทะเบียนในพื้นที่เก็บเงินที่มีรถไฟฟ้าเป็นทางเลือก ผู้ฝ่าฝืนจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าปรับทางออนไลน์คาดว่าจะช่วยลดปริมาณรถลง 5%

สำหรับพื้นที่เก็บเงินตามผลศึกษาเบื้องต้น
1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คันต่อวัน
2.ทางแยก สีลม-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คันต่อวัน
3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาทร) มีปริมาณจราจร 83,368 คันต่อวัน
4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 1) มีปริมาณจราจร 62,453 คันต่อวัน
5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คันต่อวัน
6.ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คันต่อวัน)

รอ6เดือนเมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมจะประกาศความชัดเจนของห้วงเวลาเริ่มเก็บค่ารถติดในกรุงเทพฯ หลังจากประเทศไทยพูดคุยเรื่องนี้กันมานานแล้วหลายสิบปี แต่ภาคการเมืองไม่เอาด้วยเพราะกลัวเสียคะแนน ประกอบกับก่อนหน้านี้ประชาชนยังไม่มีทางเลือกมากพอเพราะเส้นทางรถไฟฟ้ายังไม่คลอบคลุม

เมื่อรัฐบาลต้องทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตามที่ประกาศหาเสียงไว้ การเก็บค่ารถติดเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ มากกว่านำงบประมาณมาชดเชยอุดส่วนต่างจากการบิดเบี้ยวกลไกค่าโดยสารให้ถูกแสนถูกเพื่อสร้างเรตติ้งทางการเมือง จึงได้เวลาเก็บเงินค่ารถติดกรุงเทพฯ.

……………………………………..
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…