หลักฐานพบว่า อายุเฉลี่ยของการเสพติดบุหรี่ อยู่ที่ 17-18 ปี และมีน้อยมากที่เริ่มสูบบุหรี่หลังอายุ 25 ปี

เอกสารลับของบริษัทบุหรี่ ที่เปิดเผยโดยศาลในสหรัฐอเมริกา พบว่า บริษัทบุหรี่พุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ดังตัวอย่าง

“ฐานการทำธุรกิจของบริษัทเราอยู่ที่นักเรียนระดับมัธยมปลาย” (บริษัทบุหรี่ ลอริลลาร์ด ปีพ.ศ. 2521)

“พฤติกรรมการสูบบุหรี่ในหมู่เยาวชนหญิง จะช่วยรักษาระดับการเริ่มสูบบุหรี่ต่อไปได้ ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุบัติการณ์ที่ผู้หญิงสูบบุหรี่” (บริษัท บริติช อเมริกัน โทแบคโค ปีพ.ศ.2522)

 “ถ้าบริษัทบุหรี่หยุดทำการตลาดที่พุ่งเป้าที่วัยรุ่น บริษัทจะต้องเลิกกิจการในเวลา 25-30 ปี เพราะจะไม่มีลูกค้าพอที่บริษัทจะอยู่ได้” (เบนเนท ลีโบว เจ้าของบุหรี่ชื่อดังหลายยี่ห้อ)

“เราได้รับการติดต่อจากลูกค้า ให้ออกแบบซองบุหรี่ที่ดึงดูดวัยรุ่น ซองจะต้องเตะตาวัยรุ่น” (ฟิลลิป กาเบอร์แมน ครีเอตีฟของ โรเบริต แอสโซซิเอจ)

การสูบบุหรี่เริ่มต้นขณะเป็นวัยรุ่น รศ.นพ สุริยเดว ทรีปาตี อธิบายว่า ฮอร์โมนเพศในวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ทำให้สมองส่วนที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ยั่วยุอารมณ์ (สมองส่วนอารมณ์ Limbic System) จะมีความไวเป็นพิเศษ ทำให้สมองส่วนที่จะยับยั้งการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเหล่านี้มีประสิทธิภาพที่จะยับยั้งได้ยากมาก

อีกทั้งวัยรุ่นอายุ 12-14 ปี มีฮอร์โมนที่ทำให้วัยรุ่น ต้องการการยอมรับจากเพื่อนเพิ่มมากขึ้น (Oxytocin ; Peer Acceptance) ซึ่งเป็นช่วงที่หลั่งสูงสุดในวงจรชีวิต มีความกล้าได้ไม่กลัวเสีย ลองผิดลองถูก ท้าทายกับสิ่งแปลกใหม่

ทำให้วัยรุ่นรับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆได้ง่าย เกินความสมารถของสมองส่วนที่จะยับยั้ง ซึ่งจะค่อยๆพัฒนาจนเต็มที่เมื่ออายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป

ผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่  จึงมีน้อยมากที่จะมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีความยั้งคิด คิดได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่พฤติกรรมปกติ  ขณะที่คนที่สูบบุหรี่มวนอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มาสูบบุหรี่ไฟฟ้า

วัยรุ่นจึงเป็นเป้าหมายหลักของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงไทย ที่สูบบุหรี่มวนน้อยมาก

ใครที่มีลูกสาวหลานสาว  จึงต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ที่เสี่ยงจะเสพติดไปตลอดชีวิตนะครับ

ข้อมูลจาก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่