ทั้งนี้ แม้ในไทยจะเคี้ยวหมากกันน้อยมากแล้ว หากแต่ในตลาดโลกนั้น “หมากยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ” โดย “หลายประเทศยังมีความต้องการสูง”ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถ “เพิ่มส่งออกหมากไทยในตลาดประเทศใหญ่ ๆ”ได้…ก็ “น่าสนใจ”…
ถ้า “หมากไทยฮิตในประเทศบิ๊ก ๆ”
ก็จะ “มีโอกาสจะดึงเงินเข้าไทยได้ดี”
กรณี“หมากไทย”นี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อมูลข้อเสนอจากผลศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) นำโดย ดร.วิโรจน์ณระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตร และ วุฒิพงษ์ตุ้นยุทธ์ กับ อรุณพรพรพูนสวัสดิ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและมีรายงานวิจัย “การวิเคราะห์โครงสร้างห่วงโซ่คุณค่าของหมากไทย และแนวทางส่งเสริมการสร้างมูลค่าและความยั่งยืน” โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ซึ่งได้พบประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับ “โอกาสของหมากไทย”
หลักใหญ่ใจความจากข้อเสนอนี้ที่มีการเผยแพร่ไว้ผ่านบทความ “หมากไทยสู่ตลาดโลก : โอกาสที่รัฐบาลใหม่จะแสดงฝีมือแก้ปัญหาการส่งออก”ทีมวิจัยสะท้อนไว้ว่า… หมากก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญของเศรษฐกิจโลก ที่ทั้งผลผลิตและการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ราคาหมากในตลาดสำคัญของโลกน่าสนใจ ซึ่งราคาส่งออกหมากไทยในทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับ “ยาง–ปาล์ม” แล้ว พบว่า… “หมากไทยมีราคาค่อนข้างดี”
ข้อมูลจากงานวิจัยฉายภาพไว้อีกว่า… ระหว่างปี 2559-2565 หมากไทยสามารถสร้างรายได้นับพันล้านบาทต่อปีโดยมีมูลค่าส่งออกสุทธิ 1,045-2,151 ล้านบาทต่อปี แม้กระทั่งปี 2566 ที่ไทยมีปัญหาการส่งออก แต่หมากก็ยังมีมูลค่าส่งออกสุทธิสูงถึง 994 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 นี้ก็มีการคาดว่า…หมากไทยน่าจะมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถึงแม้ราคาส่งออกหมากในขณะนี้จะปรับตัวลดลงมาเหลือที่ประมาณ 37 บาทต่อ กก. จากที่เคยสูงถึง 50-60 บาทต่อ กก. ก็ตาม
ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอยังระบุไว้ว่า… แม้หมากจะสร้างมูลค่าส่งออกได้มาก แต่กลับเป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากภาครัฐน้อยกว่าอย่างอื่น โดยแทบจะไม่มีรายงานสถิติเพาะปลูกและข้อมูลเศรษฐกิจเกี่ยวกับหมาก ซึ่งไทยควรปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรไทยให้ความสำคัญกับหมากเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โดยทั่วไปเกษตรกรมักปลูกหมากเป็นพืชเสริม ปลูกแซมพืชอื่น หมากจึงเป็นพืชเสริมรายได้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะ ภาคใต้ที่เป็น แหล่งผลิตหมากส่งออกที่สำคัญ ของไทย
ในบทความข้างต้นยังชี้ “ตลาดส่งออกหมากที่สำคัญ” ไว้ ซึ่งก็ “ล้วนเป็นตลาดใหญ่” นั่นคือ… ประกอบด้วย 2 ตลาด… 1.ตลาดหมากสด ที่มีจีน เป็นปลายทางสำคัญ โดย ไทยส่งออกผ่านเวียดนามเป็นหลัก และ 2.ตลาดหมากแห้ง ที่มี อินเดีย เป็นปลายทางสำคัญ ซึ่ง ไทยเคยส่งออกผ่านเมียนมาเป็นหลัก ทั้งนี้ อินเดียเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้นำเข้าหมากที่สำคัญที่สุดของโลก ขณะที่หมากนั้นเป็นพืชการเมืองของอินเดีย เพราะมีผู้ปลูกเป็นจำนวนมากในหลายรัฐ ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกมาตรการปกป้องหมากในประเทศหลาย ๆ มาตรการ เพื่อสร้างกำแพงการค้าหมากจากต่างประเทศ
และผลพวงจากมาตรการรัฐบาลอินเดียนี้เอง ทำให้ การส่งออกหมากไทยไปอินเดียโดยตรงจะต้องเสียอากรนำเข้า 100% ของมูลค่า และภาษีนำเข้าเพิ่มเติม (Tariff) อีกราว ๆ 88 บาทต่อ กก. นอกจากนี้อินเดียยังกำหนดราคาขั้นต่ำการนำเข้าหมากไว้ที่ 143 บาทต่อ กก. ทำให้ที่ผ่านมาอินโดนีเซีย ไทย จึงเลี่ยงไปส่งออกหมากแห้งผ่านเมียนมา ซึ่งรัฐบาลไทยควรเร่งหาทางแก้ไขเพื่อช่วยเกษตรกรของไทย เพื่อให้การ “ส่งออกหมากไทย” ไม่สะดุด–ไม่สูญเสียโอกาส โดยแนวทางเพื่อช่วยเกษตรกรไทยนั้น ทางทีมวิจัยก็มีการจัดทำ “ข้อเสนอแนะ” ผ่านมาตรการดังต่อไปนี้…
มาตรการแรก เร่งเจรจาการค้ากับประเทศผู้ซื้อปลายทางที่สำคัญโดยตรง โดยเฉพาะตลาดอินเดีย ที่ไทยควรเร่งเจรจากับรัฐบาลอินเดียโดยใช้หรืออ้างอิงกลไกการเจรจาการค้าที่มีอยู่แล้ว อย่าง BIMSTEC, FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) เพื่อขอปรับลดภาษีศุลกากรและโควตายกเว้นการใช้ราคานำเข้าขั้นต่ำกับหมากไทย
มาตรการที่สอง หาลู่ทางขยายตลาดส่งออกหมากเพิ่มขึ้น เช่นยุโรปตะวันออกกลาง และตลาดที่มีอยู่แต่ไทยยังเข้าไม่ถึง ผ่านการ ใช้กลไกทูตพาณิชย์ และการเจรจาการค้า โดยกรณีหลังควรศึกษาจากอินโดนีเซียที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก ที่นอกจากใช้วิธีแข่งด้วยราคา ยังสามารถปรับช่องทางการขายได้ตลอด จนส่งออกเพิ่มที่อินเดียและอิหร่านได้
มาตรการที่สาม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หมาก หมากไทยถูกขายเป็นสินค้าแปรรูปขั้นต้น ขณะที่อินเดียและจีนมีการแปรรูปหมาก มีผลิตภัณฑ์จากหมากหลายรูปแบบ เช่น ต้มอบเป็นขนม ทำผงหมาก สกัดสารจากหมาก รวมถึงกำลังพัฒนายากลุ่มยาต้านซึมเศร้าจากสารในหมาก ภาครัฐไทยควรสนับสนุนการวิจัยพัฒนาหมากไทยในด้านยา ที่ไม่ใช่การส่งเสริมการบริโภคโดยตรง …ต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าทำได้ก็เชื่อว่า…ไทยจะได้ประโยชน์มากจากหมากไทย
“อินเดีย–จีน–ยุโรป–ตะวันออกกลาง”
ล้วนแล้วแต่เป็น “ตลาดขนาดใหญ่”
ถ้า “บูมหมากไทยได้…ย่อมดีแน่”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์