ปัญหา “โรคไต” เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค และการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งในประเทศไทยแต่ละปีจะพบ “ผู้ป่วยโรคไตรายใหม่” เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 คน ทั้งนี้ พญ.เมธินี สุทธิไวยกิจ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน มีไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง ดื่มน้ำน้อย ควรเข้ารับการตรวจไต เพราะไตเป็นอวัยวะที่จะเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ซึ่งกว่าจะแสดงอาการก็เสื่อมไปมากแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะรุนแรงที่จะต้องทำการฟอกไตแล้ว ก็จะสร้างภาระและความยุ่งยาก ทั้งในเรื่องของเวลา เศรษฐกิจ และสุขภาพโดยรวม ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังและลดปัจจัยเสี่ยงการเป็นโรคไตให้ดี
พญ.เมธินี ระบุว่า โรคไตมีทั้งหมด 5 ระยะ หากทราบว่าตนเองเป็นระยะที่เท่าไหร่ จะทำให้มีการดูแลตนเองได้ง่ายขึ้นมาก แต่การจะทราบได้นั้น ก็ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง ซึ่งสามารถตรวจได้ในการตรวจสุขภาพประจำปี และให้แพทย์เป็นผู้แจ้งผล โดย หากเป็น ระยะที่ 1-3 เน้นการดูแลชะลอไตเสื่อม และผู้ป่วยมักยังไม่มีภาวะแทรก ซ้อนมากนัก
ระยะที่ 4-5 เริ่มมีภาวะแทรกซ้อน ต้องมีการรักษาภาวะแทรกซ้อน และชะลอการเสื่อมไปพร้อมๆ กัน
ระยะที่ 5 บางรายต้องเริ่มการบำบัดทดแทนไต หรือการฟอกไต เนื่องจากการทำงานของไตไม่เพียงพอที่จะขจัดของเสียและสมดุลในร่างกายได้
“สาเหตุของไตวาย ส่วนใหญ่เกิดจาก เบาหวาน ความดัน นิ่ว ผู้ที่เป็น 3 โรคนี้ ควรได้รับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง ระวังการรับประทานอาหาร ระวังการใช้ยา เพื่อไม่ให้ตนเองไปสู่ภาวะไตวาย”
สำหรับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากไตวาย เช่น บวม ซีด เกลือแร่ผิดปกติ เมื่อมีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรพบแพทย์ และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางโรคไต ควรรับประทานอาหารและยาตามที่แพทย์แนะนำ
ส่วนการชะลอไตเสื่อม สามารถทำได้ดังนี้ 1.ลดการกินอาหารเค็ม 2.คุมน้ำตาลและความดันโลหิตให้ดี 3.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ 4.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เลี่ยงยาที่มีผลเสียกับไต และ 5.งดสูบบุหรี่
กลุ่มที่เสี่ยงเป็นโรคไต คือ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคนิ่ว กลุ่มคนที่มีประวัติพันธุกรรมเป็นโรคไต มีประวัติใช้กลุ่มยามีพิษกับไตเป็นระยะเวลานาน บุคคลที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจสุขภาพไตเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจเช็กค่าไต
“สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคไต ควรรู้ปัจจัยเสี่ยงและตรวจสุขภาพไตเป็นประจำ เนื่องจากภาวะไตวายเรื้อรังในระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบได้”.
อภิวรรณ เสาเวียง