ทั้งนี้ กับการที่คนไทยไม่น้อย “แบกภาระหนักเรื่องหนี้บ้าน” รวมถึงการที่คนไทยจำนวนมาก “ไม่มีโอกาสซื้อบ้าน” ด้วยซ้ำนั้น ก็เห็นว่า รัฐบาลแพทองธาร มีนโยบายจะช่วย ซึ่งเรื่องหนี้บ้าน…จะ พักดอกเบี้ย–ลดค่างวด เรื่องซื้อบ้าน…จะ ใช้ที่ดินหน่วยงานรัฐสร้างบ้านเพื่อประชาชน แต่ 2 เรื่องนี้ที่สุดจะอย่างไร?? ก็ ยังต้องรอดูกันต่อไป… ส่วนเรื่อง “เจอแจ๊กพ็อตมีเพื่อนบ้านป่วน”นี่ไม่ต้องรอ…มาดู “แนวทางรับมือ” กันวันนี้เลย…
“เพื่อนบ้านป่วน” วันก่อนก็อื้ออึงอีก
คนเจอแจ๊กพ็อต “อยู่บ้านไม่เป็นสุข”
มีทุกข์ที่บ้านแบบนี้ “รับมือยังไงดี??”
ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูเรื่องนี้ ซึ่งแม้เมืองไทยยุคนี้จะเป็น “สังคมโดดเดี่ยว” ที่การอยู่อาศัยตามชุมชน ตามหมู่บ้าน มักอยู่กันแบบ “บ้านใครบ้านมัน” มากขึ้นเรื่อย ๆ… แต่ก็กลับพบ “ปรากฏการณ์ป่วนเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน”มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย โดย “กรณีพิพาท“ หรือ “กรณีปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน“ นั้น…มีกระแสดราม่าอื้ออึง “เกิดบ่อยขึ้น!!-เกิดมากขึ้น!!” ซ้ำยัง “มีสารพัดรูปแบบการป่วนที่ชวนให้ปวดหัว”ทั้งคนถูกป่วน และเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็มี “ปุจฉา” ว่า…สังคมไทยในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างคนต่างอยู่ กับ “กรณีพิพาทบ้านใกล้เรือนเคียง” นั้น…“กรณีนี้นี่จะยังไงดี??”…
กรณีนี้…“เจอแล้วควรต้องทำยังไง??”
สำหรับ “คำแนะนำ” เกี่ยวกับเรื่องนี้… “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดู “มุมกฎหมาย” เพื่อใช้เป็นวิธีรับมือโดย “มีข้อกฎหมายรับมือเพื่อนบ้านป่วน” ซึ่งในมุมนี้มีข้อมูลใน เว็บไซต์สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ที่ได้ให้แนวทางรับมือปัญหาไว้ รวมถึงยังมีการ “เตือนเรื่องตอบโต้จนผิดกฎหมาย” ไว้ด้วย โดยแบ่งเป็นกรณี ๆ ไว้ดังต่อไปนี้…
กรณี “จอดรถขวางหน้าบ้าน” กรณีนี้คำแนะนำคือ… ห้ามทุบหรือทำลายรถที่จอดขวางเด็ดขาด สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือ สามารถติดป้ายเตือนว่าห้ามจอด หรือแจ้งตำรวจให้มาลากรถ ไปสถานีตำรวจได้, กรณี “มีสัตว์เลี้ยงส่งเสียงดังรบกวน” หรือ “กัดทำลายข้าวของ” กรณีนี้ผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือผู้เสียหาย ห้ามทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ สิ่งที่ทำได้คือ สามารถร้องเรียนหน่วยงานท้องถิ่นให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง–ดำเนินการ หรือ ฟ้องร้องเรียกสินไหมทดแทนได้
ถัดมา… กรณี “ต้นไม้รุกล้ำที่ดิน” กรณีนี้เจ้าของที่ดินที่ต้นไม้รุกล้ำเข้ามา ห้ามตัดกิ่งก้านต้นไม้โดยไม่มีการบอกกล่าวก่อน สิ่งที่ทำได้คือ สามารถเก็บผลไม้ที่ตกตามธรรมชาติได้ ส่วนทางแก้ไขคือ ให้ทำหนังสือแจ้งเจ้าของต้นไม้ที่รุกล้ำเข้ามา และ หากแจ้งแล้ว แต่เจ้าของต้นไม้นั้นไม่ทำการแก้ไข เจ้าของที่ดินก็สามารถตัดเองได้ และหากรากของต้นไม้นั้นทำให้เกิดปัญหาต่อโครงสร้างบ้าน เจ้าของที่ดินที่ต้นไม้นั้นรุกล้ำเข้ามาก็สามารถฟันรากทิ้ง ได้เลย
ต่อด้วยกรณี “เพื่อนบ้านส่งเสียงดัง” ผู้เดือดร้อนกรณีนี้ ห้ามเข้าไปเอาเรื่อง ด่าทอ หรือทำร้ายร่างกายเด็ดขาด แต่ให้ใช้วิธีเจรจาก่อนถ้าหากเจรจาแล้วไม่ได้รับความร่วมมือก็สามารถอัดคลิปเพื่อใช้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ–ดำเนินการได้, กรณี “เพื่อนบ้านสร้างหลังคาใหม่ทำให้น้ำไหลใส่บ้าน” กรณีนี้ผู้เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อน ห้ามทุบทำลายสิ่งก่อสร้างด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด สิ่งที่ทำได้คือเจรจาพูดคุยกันก่อน แต่ถ้าหากพูดคุยเจรจาแล้วก็ยังไม่เป็นผล ผู้เดือดร้อนมีสิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือฟ้องร้องให้รื้อถอน …เหล่านี้คือ “สิ่งห้ามทำ–สิ่งที่ทำได้”
ขณะที่ประเด็น “ความผิดทางกฎหมาย” กรณี “สร้างปัญหาให้เพื่อนบ้าน” นั้น ก็มีข้อมูลระบุไว้ว่า… ปัญหาส่วนมากที่พบ ได้แก่ จอดรถกีดขวาง, สร้างเสียงดัง, ทำให้เกิดกลิ่นหรือความสกปรกรบกวน ซึ่งเหล่านี้ ในทางกฎหมายถือเป็นความผิดลหุโทษ แต่ก็ต้องระวางโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370 และมาตรา 397 คือ…
มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อนต้องระวางโทษมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทขณะที่ มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
“กรณีที่เพื่อนบ้านส่งเสียงดังจนทำให้เกิดความรำคาญ จะเข้าข่ายเป็นความผิดมาตรา 370 ส่วนกรณีจอดรถกีดขวาง หรือทำให้เกิดกลิ่น–ความสกปรก จะเป็นความผิดฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 397” …นี่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมอีกส่วนที่มีการขยายความไว้ เกี่ยวกับ “ความผิด” กับ “บทลงโทษ” ตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ นอกจากโทษตามกฎหมายข้างต้นแล้ว ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นรบกวน หรือความสกปรก ที่เกิดจากการกระทำของเพื่อนบ้าน ยังสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งย้ำว่า… เจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่จัดการสั่งผู้ทำผิดกฎหมายให้แก้ไขและหากไม่ทำตามก็จะมีโทษทางอาญา แล้วแต่กรณีไป…
สรุป…“เพื่อนบ้านป่วน…ก็มีกฎหมายสู้”
โดย…“เจ้าหน้าที่…ก็มีหน้าที่ต้องช่วยสู้”
ระวัง!!…“อย่าสู้เองแบบผิดกฎหมาย!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์