ยากลุ่มที่เป็นที่ทราบกันดีว่าทำให้เกิดผลข้างเคียงทางโลหิตวิทยาดังกล่าวคือ ยาเคมีบำบัด ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง จึงส่งผลกระทบต่อเซลล์ในระบบโลหิตวิทยาทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดซึ่งแบ่งตัวเร็วด้วยเช่นกัน โดยโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวขึ้นอยู่ชนิดของยา ขนาดยาที่ใช้ สูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้ร่วมกัน สภาพร่างกายและโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งอาการของภาวะซีด เช่น อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาการของภาวะเม็ดเลือดต่ำ เช่น อาการไข้จากการติดเชื้อ อาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น จุดเลือดออกตามตัว และเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็นต้น

นอกจากนี้ยากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยาเคมีบำบัด ก็อาจมีผลข้างเคียงทางโลหิตวิทยาได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะเกิดจากยาไปเหนี่ยวนำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งยาแต่ละชนิดมักจะมีผลต่อเม็ดเลือดเพียงชนิดเดียว

ภาวะซีดจากภูมิคุ้มกันซึ่งถูกเหนี่ยวนำจากยาพบได้ไม่บ่อย อาจจะสงสัยภาวะนี้เมื่อผู้ป่วยมีภาวะซีดลงเรื่อย ๆ หลังจากได้รับยา และเมื่อหยุดยาแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ยาที่เป็นสาเหตุเช่น ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะกลุ่มเพนนิซิลลิน เซฟาโลสปอริน ซัลฟา เป็นต้น นอกจากนี้ภาวะซีดจากยาอาจเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องไซม์จี-6-พีดีอยู่เดิมแล้วได้รับยาบางชนิดเช่น ยาต้านมาลาเรีย ทำให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดอย่างเฉียบพลัน ได้เช่นกัน การรักษาคือการหยุดยาที่เป็นสาเหตุ การรักษาเพิ่มเติมที่อาจจะพิจารณาให้คือ การให้เลือดในกรณีที่มีภาวะซีดรุนแรง

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากยา พบได้ไม่บ่อยเช่นกันแต่ถือเป็นผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลต่ำรุนแรงคือต่ำกว่า 500 ตัวต่อไมโครลิตร (ค่าปกติ 4,000-10,000) ร่วมกับการติดเชื้อ เนื่องจากจะขาดเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลในการต่อสู้กับเชื้อโรค ยาที่เป็นสาเหตุเช่น ยาสำหรับรักษาโรคไธรอยด์เป็นพิษ ยารักษาโรคทางจิตเวชบางกลุ่ม รวมทั้งยาปฏิชีวนะ ซึ่งกรณีที่แพทย์จะสั่งยาที่มีผลข้างเคียงดังกล่าวจะมีการให้คำแนะนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันทีหากมีไข้ โดยเฉพาะช่วง 1 เดือนแรกหลังได้รับยา เพื่อตรวจระดับเม็ดเลือด การรักษาคือ หยุดยาที่เป็นสาเหตุ และเริ่มให้ยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุดกรณีที่ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรงร่วมกับมีไข้ นอกจากนี้อาจพิจารณาให้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว

3D Illustration. Red blood cells. Scientific and medical concept.

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากยา มีรายงานการเกิดจากยาหลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่ ยาปฏิชีวนะ และยากันชัก โดยมักจะเกิดใน 5-10 วันหลังจากได้รับยา และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออก ซึ่งแพทย์จะสงสัยภาวะนี้หากพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังจากได้รับยาโดยไม่มีสาเหตุอื่น ๆ ของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น การติดเชื้อ และหลังจากหยุดยาแล้ว ระดับเกล็ดเลือดจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นปกติ กรณีที่เกล็ดเลือดต่ำรุนแรงหรือมีภาวะเลือดออกในอวัยวะสำคัญ แพทย์จะพิจารณาให้เกล็ดเลือดทดแทนระหว่างรอให้ระดับเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น

โดยสรุป การใช้ยาทุกชนิดควรมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียง รวมทั้งผลข้างเคียงทางด้านโลหิตวิทยาได้แก่ ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งบางภาวะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ข้อมูลจาก รศ. นพ.เอกรัฐ รัฐฤทธิ์ธำรง หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่