มาตรการที่ว่านี้เห็นว่าจะมีการพักชำระดอกเบี้ยนาน 3 ปี และลดค่างวดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้เดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน ซึ่งมาตรการนี้ยังอยู่แค่ขั้นตอนพิจารณา แต่ก็เป็น “ความหวัง” ของหลาย ๆ คน…
ที่ “ต้องดิ้นรนหนัก–ชักหน้าไม่ถึงหลัง”
อันเนื่องจาก “ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว”
ทั้งนี้ ระหว่างที่ “ลุ้นความหวัง” ลุ้นกับ “มาตรการช่วยเหลือผ่อนปรนหนี้” ว่าที่สุดจะอย่างไร?? ระหว่างนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลแง่มุมที่น่าสนใจมาสะท้อนต่อ กับกรณี “ความฝันมีบ้านของคนไทย”โดยเฉพาะคนที่ต้องการจะมีที่อยู่อาศัย “ในเขตเมืองใหญ่” ซึ่งนี่เป็นข้อมูลแง่มุมโดย รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ที่สะท้อนเรื่องนี้ไว้ใน รายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.27 หัวข้อ “เก็บเงินกี่ปีถึงซื้อบ้านในกรุงเทพฯ ได้??” ซึ่งได้มีการไขคำตอบเรื่องนี้ไว้ และได้เริ่มจากชวนตั้งคำถามที่ว่า… ในยุคที่ “บ้านราคาแพง” แต่ค่าแรงน้อยนิด…
หรือไม่มีคนหาร ไม่มีมรดกจากพ่อแม่
จะ “สามารถมีบ้านที่อยู่อาศัยได้ไหม?”
รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
รศ.ดร.พนิต ฉายภาพไว้ว่า… “ที่อยู่อาศัย” คือ 1 ในปัจจัย 4 พื้นฐานการดำรงชีวิต แต่ความพิเศษก็คือ บ้านเป็นปัจจัย 4 ที่แพงที่สุดซึ่งคำจำกัดความที่สมบูรณ์ของที่อยู่อาศัยหรือบ้านนั้นก็คือ ต้องเป็นของที่ถาวรที่สุด ต้องเป็นที่ดินที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม และต้องเชื่อมโยงกับกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต เช่น เชื่อมโยงกับแหล่งงาน โรงเรียน สถานพยาบาล สถานที่จับจ่ายซื้อสินค้า …เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับ “บ้าน” ปัจจัย 4 ที่แพงที่สุด
ผอ.ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองระบุไว้อีกว่า… องค์การสหประชาชาติได้กำหนด ค่าใช้จ่ายพื้นฐานเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ของประชากรโลกไว้ว่า… ค่าเช่า-ค่าผ่อนที่อยู่อาศัย รวมถึงค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของที่อยู่อาศัย ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้หรือของเงินเดือน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วพบว่า.. จากปัญหาที่ดินที่มีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เมืองใหญ่ทั้งหลายของโลก ซึ่งก็รวมถึง “กรุงเทพฯ” นั้น ล้วน มีค่าใช้จ่ายกับที่อยู่อาศัยเกิน 30% ทั้งสิ้น จนทำให้ “ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน” นั้นไป “เบียดบังค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ ของปัจจัย 4 ที่เหลือ” แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ …นี่เป็นความจริงยุคนี้
กับคำถามที่ว่า… ราคาที่อยู่อาศัยในเขตเมืองแพงเท่ากันทั่วโลกหรือไม่? คำตอบคือ… ไม่ใช่ โดยมีผลศึกษาจากโกลบอล พร็อพเพอร์ตี ไกด์ (Global Property Guide) ปี 2023 มีการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างของคอนโดฯ หรืออพาร์ทเม้นท์ 1 ห้องนอน ขนาด 40-50 ตารางเมตร ในพื้นที่ทวีปเอเชีย พบว่า… อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ มีราคาแพงที่สุด ส่วน อันดับที่ 2 และ 3 คือ ฮ่องกง และมหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตามลำดับ ขณะที่ กรุงเทพฯแพงเป็นอันดับที่ 4 ในเอเชีย
ทาง รศ.ดร.พนิต ฉายภาพไว้ต่อไปโดยระบุถึง “ตัวชี้วัด” ที่นำมาใช้ประเมิน…ที่เทียบระหว่างราคาค่าเช่าห้อง กับรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ของคนในพื้นที่นั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น… กรุงเทพฯ ราคาค่าผ่อนคอนโดมิเนียม เฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน แต่รายได้เฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 23,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อนำรายได้เฉลี่ยมาเทียบค่าใช้จ่ายส่วนนี้… คนกรุงเทพฯ มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าค่าเช่าหรือค่าผ่อนที่อยู่ค่อนข้างมาก และถ้าดูที่ “ราคาขาย” สำหรับห้องขนาด 40-50 ตารางเมตร โดยผ่อนชำระ 30 ปี ที่ราคาซื้อราว 4-5 ล้านบาท แต่เมื่อรวมดอกเบี้ย ราคาเบ็ดเสร็จจะตกอยู่ที่ราคาห้องละ 9-10 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนว่า “ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ” นั้น “แพงเกินไปกว่าที่ผู้คนจะจ่ายไหวอย่างมาก”
ถามว่า…แล้ว รัฐจะโอบอุ้มความฝันคนอยากมีบ้านได้อย่างไร??… ทาง รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ยกตัวอย่างจากต่างประเทศมาเป็นกรณีศึกษา อาทิ สิงคโปร์ ที่อยู่อาศัยในเมืองแพงเป็นอันดับ 1 ทางรัฐบาลของสิงคโปร์ก็พยายามแก้ปัญหาผ่านมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ หลายด้าน เช่น ให้สิทธิ์คนจนเป็นอันดับแรกในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยของรัฐ ส่วนคนที่มีฐานะขึ้นไปอีก ก็ให้สิทธิ์ซื้อหรือเช่าได้เช่นกัน แต่จะต้องช่วยจ่ายบางส่วนเพิ่มขึ้น ตามระดับรายได้และฐานะที่แตกต่างกัน
ส่วน ยุโรป และ อเมริกา ภาครัฐก็เข้าช่วยเรื่องที่อยู่อาศัย โดย อนุญาตให้คนรายได้น้อยสามารถเช่าบ้านหรือที่อยู่อาศัยของเอกชนได้โดยรัฐจะสนับสนุนตามรายได้ ของคน ๆ นั้น ซึ่งรัฐจะโอนเงินส่วนต่างให้ผู้ให้เช่าเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีภาคเอกชนที่เข้าสนับสนุนอีกด้วย …นี่เป็น “รูปแบบ–วิธีการ” ในต่างประเทศ…เพื่อ “ให้คนเข้าถึงบ้านที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น” อย่างไรก็ตาม สำหรับใน ไทย ทาง ผอ.ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง ระบุไว้ว่า… คนที่จะซื้อบ้านก็ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองก่อนอันดับแรก เช่น หารายได้เพิ่ม พยายามเติบโตทางหน้าที่การงาน หรือแม้แต่หาพาร์ทเนอร์มาช่วยหารค่าบ้าน-ค่าครองชีพ
“ที่ดินขาดแคลน ที่อยู่อาศัยก็ต้องแพงตาม… ซึ่งคนยุคนี้ต่างต้องการที่อยู่อาศัยที่เป็นของตัวเอง แต่ข้อจำกัดรายได้ทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะมีบ้านได้ ซึ่งรัฐและเอกชนต้องร่วมกันหาทางทำให้คนไทยสามารถมีบ้านของตัวเองได้ เพราะเมื่อที่อยู่อาศัยมีความเหมาะสม ย่อมดีต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจเมืองด้วย” …ทาง รศ.ดร.พนิต ระบุไว้
กรณี “บ้าน…1 ในปัจจัย 4 ที่แพงที่สุด”
คนมากมาย “ฝันมีบ้าน…ยากเกินฝัน!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์