คดี“ดิไอคอนกรุ๊ป” ธุรกิจขายตรงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ยังลามเป็นไฟลามทุ่ง ฟาดงวงฟาดงา กระเด็นกระดอนไปหลายแวดวง โดยเฉพาะพรรคการเมือง โยนระเบิดใส่กัน ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย

โดย “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มี “ลุงป้อม” พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค เปิดฉากทิ้งบอมบ์ แฉอักษรย่อ คนในพรรคเพื่อไทย จนต้องออกมาปฏิเสธ ตอบโต้กันไปมา

ขณะที่ฝั่ง “บอสพอล” ยังดิ้นไม่หยุด สั่งตรงจากคุก ให้ทนายความขู่ฟ้อง แม่ข่ายและสื่อรายวัน

กลายเป็นวังวนคดีร้อน ฟาดงวงฟาดงา ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะจบเมื่อไหร่ คนผิดจะถูกจับมาลงโทษหรือไม่ ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาอย่างไร

ขณะที่รัฐบาลยังเจอฝุ่นตลบ ต้องประคองตัวเองหวังให้อยู่ครบเทอม แต่ไม่รู้ว่าจะประคองตัวเองไปได้สักกี่น้ำ เพราะยังเกิดอาการขบเหลี่ยมปีนเกลียว ให้เห็นในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เช่นเรื่อง เรื่อง “นิรโทษกรรม” ที่ “พรรคเพื่อไทย” จับมือกับ “พรรคร่วม” ตีตกรายงานกรรมาธิการนิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้แก่คดีทางการเมืองเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  

ถึงขนาด “เดียร์” ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เจ้าของญัตติงดออกเสียง

กลายเป็นว่า “พรรคเพื่อไทย” ตีชิ่งทำแท้งมาตรา110 และมาตรา 112 ไปโดยปริยาย พลิกมติพรรคยกร่างเนื้อหานิรโทษกรรมใหม่ประกบอีก 4 ร่างที่จะส่งเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร์ในสมัยหน้า โดยมีสัญญาประชาคมกับพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่แตะมาตรา 110 และมาตรา 112 หลังโดนแรงบีบจากพรรคร่วมรวมหัวกันไม่เอามาตรา 112 เข้ามาสู่กระบวนการนิรโทษกรรม เพราะไม่ถือเป็นคดีทางการเมือง  

สวนทางกับคนเสื้อแดงเรียกร้องให้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วยเพื่อแสดงความจริงใจต่อคนเสื้อแดงที่คอยร่วมรบกันมา ให้รอดพ้นวิบากกรรมด้วย

เรื่องนิรโทษกรรมจึงเป็น ประเด็นร้อน ระเบิดเวลาในอนาคตที่รออยู่บ้างหน้า ซึ่งจะกระทบต่อเสถีรภาพรัฐบาลและศรัทธาของแนวร่วมที่หดหายคะแนนหล่นวูบ การลงสนามเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นหนทางที่ริบหรี่ที่จะได้คะแนนนิยมกลับคืนมา

ถือได้ว่าพรรคเพื่อไทย เกิดอาการกระสับกระส่าย อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังคงต้องใช้กฎหมายการเลือกตั้งแบบเดิม ที่พรรคเพื่อไทย จะต้องตกอยู่ในวังวน วงล้อมพรรคร่วมรัฐบาลกลุ่มอนุรักษ์ อีกเช่นเดิมถ้าไม่ชนะขาด เพราะล่าสุด “นิกร จำนง” ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ออกมายอมรับว่าพ.ร.บ.ประชามติจะมีปัญหา ไม่ทันเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปี 68 หากมีการเลือกตั้งยังคงต้องใช้กติกาเลือกตั้งรัฐธรรมนูญเดิม

นอกจากนี้ “พรรคเพื่อไทย” ยังมีไฟสุมขอนรออยู่ ว่าจะมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์ในสถานการณ์ภาคใต้ให้รุนแรงเพิ่มขึ้นผสมโรงโหมกับการไฟการเมือง หรือเปล่ากับปัญหา “คดีตากใบ” ที่เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่จริงจังกับการตามตัวผู้ต้องหา 7 คน มาดำเนินคดีปล่อยให้คดีหมดอายุความนักโทษลอยนวล

ทำให้เห็นถึงความเป็น 2 มาตรฐานเกิดความเหลื่อมล้ำความยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมกับประชาชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนเขย่า “พรรคเพื่อไทย”

งานนี้ฝ่ายค้าน โดย“โรม” รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ออกอาการหดหู่ ต่อท่าที่ของรัฐบาล ที่อยากให้จบแบบไม่มีใครถูกดำเนินคดี เชื่อว่า “เป็นความสบายใจของรัฐบาลที่ต้องการให้จบแบบนี้”

ที่เห็นชัดเจนคือ กรณี ปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งจำเลยใน “คดีตากใบ” โผล่กลับเข้ามาทำงานทันทีหลังคดีหมดอายุความ ซึ่งไม่ยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย จึงเห็นความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติอีกครั้งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดังนั้นท่าทีการแสดงออกของรัฐบาล เป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดสถานในอนาคตว่าจะได้กลับมาแบบยิ่งใหญ่หรือไม่สอดคล้องกับผลโพลที่ชี้ว่ารัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบเทอม

แต่ล่าสุด“นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” โหมงานหนักหวังเรียกเรทติ้ง ต้องให้น้ำเกลือส่งหนังสือลาป่วย1วัน เหตุ หลอดลมอักเสบ-เสียงแหบขอรักษาตัว ก่อนลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ร้อยเอ็ด ติดตามการแก้ปัญหายาเสพติด

ขณะที่ 4 อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ ผนึกกำลังนักวิชาการ 277 คน คัดค้านคนการเมืองนั่งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ หยุดแทรกแซงหวั่นเอื้อประโยชน์ กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีเค้ารางการปลุกกระแสชาตินิยมให้ออกมาปกป้องดินแดนเกาะกูดยกจี้เลิกเอ็มโอยู 44 นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี พร้อมตั้งคำถามกรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์สื่อ เรื่องเอ็มโอยู 44 ปัญหาไม่ใช่เขตแดน ทำอย่างไรให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นการตอกย้ำก็ว่ามีพื้นที่ทับซ้อนกัน ทั้งที่เกาะกูเป็นของไทยไม่

ฝากถาม “นายภูมิธรรม” ช่วยชี้แจงให้ประชาชนไทยเข้าใจ และตอบให้เคลียร์ เพราะถ้าดูตามเอ็มโอยู 44 เหมือนกับว่า ไทยเราไปยอมให้กัมพูชามาหาผลประโยชน์ในพื้นที่ ที่ควรจะเป็นของไทย และทำไมรัฐบาลไทยไปยอมแบบไม่มีเหตุผล โดยอ้างเพียงว่า ต้องการเอามาใช้ประโยชน์ก่อนที่โลกจะต่อต้าน ทั้งๆที่ประโยชน์ส่วนใหญ่ควรเป็นของไทย จะมาหาผลประโยชน์โดยไม่สนใจ ความเสี่ยงต่อการเสียดินแดนไม่ได้

ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็ออกมาจี้รัฐบาล ต้องพูดให้ชัดเจนเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมเกาะกูดหรือไม่ เชื่อจะทำให้เชื้อไฟความชาตินิยมหมดไป มองเกาะกูดควรเป็นของไทย แต่หาก “ภูมิธรรม” และรัฐบาล ไม่ชี้แจประชาชนจะคิดเลยเถิดเปิดช่องให้นำกระแสชาตินิยมมาใช้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับชาติไทย  

ล่าสุด“บิ๊กอ้วน” รมว.กลาโหม ต้องออกมา ‘ย้ำชัด ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย อย่าปลุกคลั่งชาติ ทำร้ายผลประโยชน์ประเทศ จินตนาการโยงสัมพันธ์ ‘รัฐบาลไทยกัมพูชา’ ทำความเข้าใจไม่มีประเด็นขายชาติขายดินแดน

ต้องจับตาดูว่า “รัฐบาลนายกอิ๊งค์” จะฝ่าดงประเด็นร้อนเหล่านี้ได้อย่างไร