สวัสดีจ้า “ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ พาไปทำความรู้จัก “ภู” ภูมิภัทร จิรภาณุรัตน์ ชั้นม.5 โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ หนึ่งในนักเรียนที่ได้รับรางวัล “วัฒนคุณาธร” ประจำปีพ.ศ.2567  จากน.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม โดยมีความสามารถที่โดดเด่นคือ การเล่น สะล้อ ซอ  ซึง ดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือ กันจ้า  

“ภู” เล่าว่า ชื่นชอบสะล้อ ซอ  ซึง เพราะเห็นพวกรุ่นพี่เล่นดนตรีสะล้อ ซอ  ซึง ในงานของโรงเรียน จึงเริ่มเรียนรู้และฝึกดนตรีนี้มาตั้งแต่อยู่ชั้นป.3 โรงเรียนอนุบาลจรูญลองรัตนาคาร และเมื่อเข้าเรียนชั้นม.1 โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ จึงได้เข้าร่วมชมรมสังคีตภิรมย์ของโรงเรียนและเรียนรู้ฝึกหัดสะล้อ ซอ  ซึง รวมทั้งการตีกลองปูจาเพิ่มเติมจากคุณครูเหมวรรณ ตันพรม ครูสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นเมือง ซึ่งเป็นครูที่ปรึกษาชมรมสังคีตภิรมย์ของโรงเรียน และยังหาความรู้จากแหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยไปศึกษาดนตรีพื้นเมืองเพิ่มเติมที่โฮงซึงหลวง อ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นแหล่งรวมครูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงในการสืบทอดและอนุรักษ์ดนตรีล้านนา ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการเล่นสะล้อ ซอ ซึง รวมถึงเทคนิคการทำเครื่องดนตรีพื้นเมืองแบบดั้งเดิมด้วย ส่งผลให้มีความชำนาญในการเล่นดนตรีสะล้อ ซอ  ซึง ตีกลองปูจา และฆ้องวงใหญ่ อีกทั้งยังได้ร่วมกับสมาชิกชมรมสังคีตภิรมย์ที่มีกว่า 30 คน ออกแสดงดนตรีในงานโรงเรียนและงานของจ.แพร่ เช่น งานพิธีไหว้ครู งานประเพณีลอยกระทง และได้รับรางวัลจากการประกวดต่างๆ เช่น  รางวัลชนะเลิศตีกลองปูจาในงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ ประจำปี 2564 และปี 2565  ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งตีกลองปูจา ในงานประเพณีลอยกระทง “จุดผางประตื้นตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี 2563 ถึงปี 2565  

นอกจากนี้การที่ “ภู” ได้เข้าร่วมในชมรมดนตรีพื้นบ้านโฮงซึงหลวง ทำให้ได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูจีรศักดิ์ ธนูมาศ ครูดนตรีพื้นบ้าน เจ้าของโฮงซึงหลวง และชาวบ้านที่อยู่ในชมรม ทั้งยังได้ร่วมเป็นนักแสดงในการบันทึกวิดิทัศน์การแสดงทางวัฒนธรรมของจ.แพร่ ชุด “สีสันบูรพา ล้านนาตะวันออก” งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย” 17 จังหวัด ภาคเหนือ ได้แสดงดนตรีพื้นเมือง ในงานเที่ยวชุมชนยลวิถี อวดของดีเมืองลอง รวมทั้งเข้าร่วมแสดงดนตรีในระดับประเทศกับโฮงซึงหลวงในงานมหกรรมการแสดงพื้นบ้าน ลีลาศิลป์ ศิลปินพื้นบ้าน Thai Folk shows ปี 2565 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ด้วย

หนุ่มมาดเข้มชาวแพร่อย่าง “ภู” จึงนับเป็นอีกหนึ่งแบบอย่างของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือและดนตรีไทย ทั้งยังตั้งใจฝึกฝนเรียนรู้ เพื่อสืบสานอนุรักษ์ไปสู่คนรุ่นหลังต่อไป