ทั้งนี้ ในภาพรวม ๆ ในประเทศไทย โฟกัสที่กรณี “สุขภาวะทางจิตคนวัยทำงาน” นั้นวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล “น่าสนใจ-น่าพิจารณา” ข้อมูลโดย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีการ “สำรวจกลุ่มพนักงานออฟฟิศ”
ที่ “สะท้อนปัญหาสุขภาวะคนทำงาน”
เกี่ยวพันทั้ง “สุขภาพกาย–สุขภาพจิต”
“ผลสำรวจ” กรณี “สุขภาวะทางจิตคนวัยทำงาน” ที่จัดทำโดยสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต หรือ TIMS คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ “ผลสำรวจสุขภาวะทางจิตกลุ่มคนไทยวัยทำงาน” ผลสำรวจดังกล่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2567 ผ่านเว็บไซต์ www.tims.psy.chula.ac.th โดยทางสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ได้ทำการสำรวจสุขภาวะทางจิตในรอบ 1 ปีจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็น “กลุ่มคนไทยวัยทำงาน” ซึ่งการสำรวจนี้เป็นการสำรวจเพื่อจะทำความเข้าใจถึง มุมมองและความต้องการในด้านนโยบายและสวัสดิการของคนทำงาน ให้มากขึ้น โดยพบว่า…กลุ่มตัวอย่างคนทำงานส่วนใหญ่เคย “เผชิญปัญหา”จากการที่ “เจ็บป่วยทางกาย และทางจิตใจ”…
แต่ก็“ต้องทำงานทั้งที่ตนเองเจ็บป่วย”
เป็น “ภาวะฝืนทำงาน (Presenteeism)”
ชุดข้อมูลผลสำรวจดังกล่าวได้สะท้อนข้อมูลที่พบในกลุ่มตัวอย่างที่ได้ทำการสำรวจไว้ว่า… คนทำงาน 50% ระบุว่าเคย “ฝืนไปทำงาน” แม้ร่างกายกำลังเจ็บป่วยอยู่ และเมื่อลงลึกรายละเอียดจากคำตอบกลุ่มตัวอย่าง ก็พบว่า… คนทำงาน 38.1% เคยฝืนไปทำงาน 1-2 ครั้ง และ 8.7% เคยฝืนไปทำงาน 3-4 ครั้ง ถึงแม้จะมีความเจ็บป่วยทางร่างกายอยู่ก็ตาม ในขณะที่ กว่า 28% ระบุว่าเคยประสบภาวะ “ฝืนไปทำงาน” แม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยมีคนทำงานราว 19.7% เคยที่จะต้องฝืนไปทำงานราว 1-2 ครั้ง และ 5% เคยฝืนไปทำงาน 3-4 ครั้ง แม้ในขณะนั้นจะกำลังมีปัญหาสุขภาพจิตใจก็ตาม
นี่เป็นภาวะ “ฝืนไปทำงานทั้งที่ป่วย”
ที่ได้ “สำรวจพบในคนไทยวัยทำงาน”
นอกจากคำตอบกลุ่มตัวอย่างประเด็นต้องฝืนทำงานแม้ขณะที่ร่างกายหรือจิตใจมีปัญหาแล้ว… การสำรวจดังกล่าวก็ยังค้นพบ “สาเหตุหลัก 5 ข้อ” ที่กลุ่มตัวอย่างมักจะใช้เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ “ต้องฝืนทำงาน”ดังนี้คือ… อันดับหนึ่ง ไม่มีใครทำงานแทนเราได้ 22.2%, อันดับสอง เป็นงานสำคัญ ต้องทำก่อนแล้วค่อยพัก 20.6%, อันดับสาม กลัวได้รับผลกระทบจากการประเมิน 17.5%, อันดับสี่ ต้องรับผิดชอบส่งงานตามกำหนด 14.3%, อันดับห้า ยังทนไหว–ยังป่วยไม่พอจนควรหยุดงาน 14.3% …นี่เป็นเหตุผล 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างได้ระบุไว้เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “จำเป็นต้องฝืนทำงาน”
ทำงานขณะตนเองกำลังรู้สึก“เจ็บป่วย”
ผลที่ตามมา “งานมีประสิทธิภาพลดลง”
ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลที่ “น่าสนใจ–น่าพิจารณา” ดังกล่าวยังมีการเสนอแนะ “แนวทางเพื่อลดภาวะฝืนทำงาน” ไว้ด้วย โดยระบุไว้ว่า…การต้องฝืนทำงานขณะที่สุขภาพมีปัญหา ไม่ได้ส่งผลดีทั้งต่อคนทำงานและองค์กร เพราะประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลงกว่าในภาวะที่สุขภาพปกติ ดังนั้น สถาบัน TIMS จึงได้จัดทำ “ทางเลือก” ผ่านแนวทางต่าง ๆ ดังนี้…
1.การสนับสนุนจากหัวหน้า โดยให้พนักงานสามารถที่จะเลือกทำงานเมื่อพร้อม และเอาใจใส่สุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ, 2.การส่งเสริมให้ตระหนักถึงความสมดุล สมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life Balance), 3.การมอบหมายงานอย่างเท่าเทียม และควรต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วย, 4.การสร้างระบบบัดดี้ หรือการให้บุคคล 2 คนเป็นหน่วยเดียวกัน โดยเน้นการสื่อสารและส่งข้อมูล เพื่อช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ และ 5.การให้หรือเพิ่มโควตาวันลาหยุด ให้แก่พนักงานโดยไม่ตัดเงินเดือน …นี่เป็น “ข้อเสนอแนะ” เพื่อ “ลดภาวะฝืนทำงาน”
“ลดปัญหา”ที่ก็เกิดกับคนไทยวัยทำงาน
ที่จะ “ป้องกันผลเสียเพราะฝืนทำงาน”
ทาง สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ยังมี “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” 3 ด้านสำคัญที่ช่วยลดปัญหาจากภาวะดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นด้วย คือ… 1.นโยบายการจัดการทำงานแบบยืดหยุ่นด้านสถานที่, 2.นโยบายการให้ลาหยุดเมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต, 3.นโยบายการจัดการทำงานแบบยืดหยุ่นด้านเวลา โดยในชุดข้อมูลดังกล่าวชี้ไว้ว่า 3 นโยบายนี้จะแสดงให้คนทำงานรับรู้ได้ว่าองค์กรให้ความสำคัญกับสุขภาพคนทำงาน …ซึ่งนี่ก็ย่อมจะดีต่อสุขภาวะทางจิตใจคนทำงาน
“สุขภาวะกาย–สุขภาวะจิตคนทำงาน”
นี่ “เกี่ยวทั้งคนทำงาน–คุณภาพงาน”
และ “กันเหตุเศร้าสลดที่โยงงาน”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์