มีตัวเลขและข้อมูลน่าสนใจจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครเฉิงตู ประเทศจีน ที่ได้เผยว่า “เมนูเท้าไก่” กำลังได้รับความนิยมจากชาวจีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเป็นเมนูที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารได้มากมาย และแปรรูปเป็นอาหารว่างได้อีกด้วย โดยปริมาณการบริโภคเท้าไก่ของคนจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ปริมาณเท้าไก่ที่ผลิตได้ในประเทศจีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ที่ผู้ประกอบการของไทยน่าจะมีโอกาสจากตลาดดังกล่าวได้ ส่วนจะยังไงนั้นต้องลองมาพิจารณาจากข้อมูลเรื่องนี้กันในวันนี้…
ทั้งนี้ สคต.ณ นครเฉิงตู เผยข้อมูลของ “ตลาดสินค้าเท้าไก่ในจีน” ว่า จากความต้องการบริโภคเท้าไก่ที่เพิ่มขึ้นของคนจีน จนผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการ ทำให้จีนต้องนำเข้าเท้าไก่จากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันการบริโภคเท้าไก่ของคนจีนมีลักษณะที่หลากหลายมากกว่าสมัยก่อน โดยนอกจากนำไปปรุงอาหารแล้ว ยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เท้าไก่ หรืออาหารว่างจากเท้าไก่อีกมากมาย เช่น เมนูเท้าไก่ดอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภควัยรุ่นยุคใหม่ แต่ปัจจุบันผู้บริโภควัยผู้ใหญ่ก็เริ่มนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิง เนื่องจากอาหารว่างจากเท้าไก่มีรสชาติที่อร่อยซึ่งมีทั้งรสเปรี้ยวและเผ็ด และยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคจีน
สำหรับสินค้าเท้าไก่ที่กำลังได้รับความนิยมสูงในคนจีนนั้น ทาง สคต. ณ นครเฉิงตู ได้มีการให้ข้อมูลไว้ว่า “ผลิตภัณฑ์เท้าไก่ไม่มีกระดูก” เช่น เท้าไก่ไม่มีกระดูกรสเผ็ด เท้าไก่ไม่มีกระดูกรสมะนาว เท้าไก่ไม่มีกระดูกรสกระเทียม กำลังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม และถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงในตลาดจีน โดยปี 2566 ตลาดออนไลน์ของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีมูลค่าการซื้อสูงถึง 4.98 พันล้านหยวน โดยผู้บริโภคชาวจีนจะนิยมสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์มากที่สุด หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของช่องทางการสั่งซื้อทั้งหมด นี่เป็นข้อมูลอินไซต์เกี่ยวกับ “สินค้าเท้าไก่ในตลาดจีน” ที่ผู้ประกอบการของไทยน่าสนใจศึกษา
ส่วน “ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการไทย” นั้น ทาง สคต.ณ นครเฉิงตู ก็มีคำแนะนำ ดังนี้ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าเท้าไก่และผลิตภัณฑ์จากเท้าไก่ (แปรรูป) มายังตลาดจีน ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาด ได้แก่ ความปลอดภัยของสินค้าและกระบวนการผลิต เช่น การบริหารต้นทุนวัตถุดิบและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต, การวิจัยและพัฒนา เช่น การเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและรสชาติใหม่ ๆ, ช่องทางการจำหน่าย ด้วยการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน รวมถึงการประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการตลาด อาทิ เน้นประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลน่าสนใจ ที่เอสเอ็มอีไทย…น่าจะใช้สร้างโอกาสได้.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]