ทั้งนี้ ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ คู่ชิงคือ “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนพรรครีพับลิกัน อดีตผู้นำสหรัฐ ก่อนยุค โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนที่ 46 กับ “กมาลา แฮร์ริส” ตัวแทนพรรคเดโมแครต รองประธานาธิบดียุค โจ ไบเดน ซึ่งไม่ว่าใครได้ขึ้นเป็นผู้นำก็ “มีผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก”เพราะ…

สหรัฐมีบทบาทสูงต่อการเมืองโลก”

ตอนนี้ “การเมืองโลกกำลังร้อนระอุ”

ดังนั้น “ต้องจับตาว่าจะอย่างไรต่อ??”

โฟกัส “ทิศทางการเมืองโลก” จากนี้… รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ วิเคราะห์และสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐอเมริกาที่ “มีผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ” นั้น…เริ่มจาก กรณี “จีน-ไต้หวัน”ที่ถ้า ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีอีก มองว่าอาจไม่ช่วยไต้หวัน…แต่จะบีบจีนไม่ให้บุกไต้หวันด้วยวิธีเล่นงานเศรษฐกิจเพื่อให้จีนอ่อนแอลง แต่ถ้า แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดี หากจีนบุกไต้หวันสหรัฐอาจเข้าช่วยไต้หวัน ตามที่ โจ ไบเดน พูดไว้

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

กรณี “รัสเซีย-ยูเครน” ถ้าเป็น ทรัมป์ ที่บอกว่าเรื่องรัสเซียกับยูเครนวันเดียวจบ ทางผู้ที่สมัครเป็นรองประธานาธิบดีก็เผยไต๋บ้างแล้วว่า…ยังไงยูเครนก็ไม่มีทางชนะรัสเซีย ต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ซึ่ง ทรัมป์จะใช้นโยบายแช่แข็งสถานการณ์เพื่อให้เกิดการเจรจา โดยจะใช้ “ข้อตกลงมินสก์” ที่ทำขึ้นที่เมืองหลวงเบลารุส กรณีกลุ่มแยกดินแดนโดเนตสค์ กับลูฮานสค์ ที่ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนรบกับยูเครน ที่สุดก็มีความพยายามเจรจาทำข้อตกลงมินสก์ โดยฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย ยูเครน ฉะนั้น มองว่าทรัมป์ก็จะใช้ข้อตกลงมินสก์ เช่น สมมุติรัสเซียได้พื้นที่ไปแล้ว 20% ก็จะแยกพื้นที่ตรงนั้น แต่พื้นที่นั้นจะต้องกลายเป็นเขตปกครองตนเอง ซึ่งจะมีหลักประกันที่เรียกว่า “บูรณภาพแห่งดินแดน” แล้วสหรัฐก็จะผลักภาระให้สหภาพยุโรปดูแล

“ข้อตกลงที่ทรัมป์น่าจะทำนี้ ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ง่าย ซึ่ง ถ้ายูเครนไม่ยอม ทรัมป์ก็จะบีบ ไม่ให้การช่วยเหลือ และเขาก็จะบีบรัสเซียถ้าไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ โดยใช้วิธีเล่นงานด้านพลังงานน้ำมัน คือจะทำการผลิตน้ำมันออกมาเยอะ ๆ และร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย ที่เขามีความสัมพันธ์กับผู้นำ เพื่อที่จะบีบให้ราคาน้ำมันลดลง และในส่วน นาโต้ (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ที่ว่าหากทรัมป์มาอเมริกาจะถอนจากนาโต้ คิดว่าเขาไม่กล้าถอน เพียงแต่ จะบีบให้สมาชิกนาโต้ที่เป็นยุโรปต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านทหาร เพื่อปรับให้นาโต้เข้มแข็งขึ้น ภายใต้การเงินของยุโรป”

แต่หาก แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดี แฮร์ริสจะช่วยเหลือยูเครนเท่าที่ช่วยได้ ซึ่งไม่ได้ช่วยเหลือให้ยูเครนชนะรัสเซีย แต่ช่วยเหลือไม่ให้แพ้รัสเซีย เพราะมาถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่าไม่มีใครชนะได้เด็ดขาดแน่ เพราะฉะนั้นก็จะช่วยเหลือแบบประคองให้ยูเครนสามารถสร้างอำนาจต่อรอง เพื่อรองรับในวันที่มีการเจรจา ให้สามารถจะมีอำนาจต่อรอง เพราะก็หวังว่าในอนาคตถึงจุดหนึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีการเจรจา… ส่วนนาโต้ “แฮร์ริสจะเน้นในเรื่องของการช่วยเหลือเต็มที่ต่อนาโต้”

ขยับมาดูที่ตะวันออกกลาง กรณี “อิสราเอลปาเลสไตน์” และ “อิหร่าน” กรณีนี้ รศ.ดร.สมชาย มองว่า…ถ้าเป็น ทรัมป์ ที่ได้เป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาอีกครั้งจะเล่น 2 บท คือหัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ต้องช่วยเหลืออิสราเอล แต่ในขณะเดียวกันก็อยากที่จะหาเสียงขณะนี้ เพื่อไม่ให้สังคมโจมตี ไม่ให้พวกปาเลสไตน์โจมตี โดย ทรัมป์จะสร้างแรงกดดันเนทันยาฮู ให้ทางอิสราเอลหยุดยิง แลกกับการสร้างสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบีย ทรัมป์จะใช้ตรงนี้เข้ามาเป็นแรงจูงใจ ส่วนอิหร่าน ทรัมป์จะมีการแซงชั่นบีบให้อิหร่านอ่อนแอลงอีก และถ้าเป็น แฮร์ริส ก็จะมีด้านหนึ่งที่สนับสนุนอิสราเอลอย่างไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะเป็นไพ่ของสหรัฐที่สำคัญในตะวันออกกลางในการ ถ่วงดุลอิหร่าน แต่ขณะเดียวกันก็เห็นความสำคัญของชาวปาเลสดิเนียนในระดับหนึ่ง แฮร์ริสก็อาจบีบบังคับให้รัฐบาลขวาจัดมีการเจรจาหยุดยิง และดูแลเรื่องของพลเรือน

สำหรับกรณี“จีน”กับ “สหรัฐอเมริกา” โดยตรง ทาง รศ.ดร.สมชาย มองว่า…จะทรัมป์ หรือจะแฮร์ริส ใครมาก็จะมีการ “บีบจีน” ทั้งนั้น จะบีบมากบีบน้อยแล้วแต่นโยบาย แต่ไม่ว่าใครจะขึ้น นโยบายกีดกันทางการค้าก็จะยังมี

ทั้งนี้ ขยับมาใกล้ไทยและถึงไทย กับ กรณี “อาเซียน”ที่รวมถึง “ไทย” ทางผู้สันทัดกรณีท่านเดิมมองว่า… ถ้า ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐอีกครั้ง ถ้าทรัมป์มา “จะมีประเด็นปัญหาแน่ ๆ” เพราะต้องการใช้นโยบายทวิภาคี จะไม่สนใจใครในอาเซียน แต่จะบีบในแต่ละประเทศมากกว่า ที่สำคัญ “จะบีบเรื่องการค้า” ด้านต่าง ๆ โดยประเทศไหนที่เล่นงานดอลลาร์ประเทศนั้นก็จะถูกเล่นงานด้วย หรือ ประเทศไหนที่ “มีส่วนใกล้ชิดกับจีนก็จะบีบ” โดยใช้เรื่องนี้เป็นตัวบีบขณะที่ ถ้าแฮร์ริสเป็นประธานาธิบดีก็จะมีลักษณะที่ “เน้นเรื่องอุดมการณ์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน” ที่จะถูกให้ความสำคัญ แต่ก็จะเหมือนทรัมป์คือเรื่องย้ายฐานการผลิต ขยายซัพพลายเชน ประเทศไหนไม่เป็นมิตรด้วยก็จะไม่สนับสนุนให้ไปลงทุน

ตอนนี้เขามองเวียดนามและอินเดียเป็นมิตร แต่ไทยเขายังไม่มองตรงนี้นี่ก็ต้องคอยดูต่อ” ทาง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ระบุ และว่า… คิดว่าตอนนี้บทบาทที่ไทยเล่นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว นั่นคือการเป็นกลาง แต่เอาเข้าจริง ๆ อเมริกามองยังไงเราไม่รู้ เขาอาจคิดแตกต่างจากเรา ขึ้นอยู่กับว่าเขามองเราใกล้ชิดกับจีนหรือเปล่า ดังนั้น

ไทยต้องวางตัวให้ดี ทำยังไงให้เขาคิด

ว่า…เราไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง??”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์