ได้แก่ โรคเพลียแดด (heat exhaustion) เกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นและไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มักเกิดจากการขาดน้ำหรือเจ็บป่วยเฉียบพลันร่วมกับอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย, เหงื่อออกมาก, วิงเวียนศีรษะ, หรือคลื่นไส้อาเจียน หากอุณหภูมิของร่างกายสูงมากก็จะเกิดโรคลมแดด (heat stroke) ภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เกิดจากอากาศร้อนได้แก่ การสัมผัสกับความร้อนที่มากเกินไป ความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความสามารถของร่างกายในการระบายความร้อน
ผู้ป่วยมะเร็งทางโลหิตวิทยาเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากอากาศร้อน เนื่องจากภาวะร่างกายที่อ่อนแอและภาวะขาดน้ำจากการที่รับประทานอาหารได้น้อย อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากเคมีบำบัด รวมถึงการที่อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ลดลงจากโรคหรือเคมีบำบัดที่ได้รับ ทำให้การปรับตัวหรือการระบายความร้อนเกิดได้น้อยกว่าคนปกติ นอกจากนี้หากเกิดโรคที่เกิดจากความร้อนขึ้นมักจะทำให้มีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยทางโลหิตวิทยาเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากความร้อน
1. การดื่มน้ำอย่างเพียงพอในแต่ละวัน หากไม่มีความผิดปกติของหัวใจหรือไต ในแต่ละวันร่างกายจะต้องการน้ำ 3 ถึง 3.5 ลิตรในเพศชาย และ 2 ถึง 2.5 ลิตรในเพศหญิง แต่ในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรืออุจจาระร่วง อาจมีความต้องการน้ำในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น ความสะอาดของน้ำเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือน้ำแข็งที่ไม่สะอาด
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสความร้อนที่มากเกินไป เช่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด สถานที่ที่ให้ยาเคมีบำบัดควรมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนเกินไป และควรหมั่นตรวจสอบดัชนีความร้อนอย่างสม่ำเสมอ โดยหากอุณหภูมิอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส การมีความชื้นสัมพัทธ์ที่มากกว่าร้อยละ 80 จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่สามารถทำให้เกิดโรคลมแดดได้ก็จะลดลง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากแหล่งข้อมูลออนไลน์
3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มโดยไม่จำเป็น เช่น ยาแก้แพ้ ยาระบาย โดยไม่จำเป็น เนื่องจากยาเหล่านี้จะลดความสามารถในการระบายความร้อนของร่างกายหรือทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนเสมอ
4. เลือกกิจกรรมลดความร้อนอย่างเหมาะสม หากต้องการว่ายน้ำควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดอันตรายในผู้ป่วยบางรายได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและลำคอจะไวต่อสารคลอรีนมากกว่าปกติ หรือผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
ที่สำคัญหากสังเกตว่ามีอาการที่เข้าได้กับภาวะเพลียแดดหรือโรคลมร้อนในวันที่มีอุณหภูมิสูงควรรีบพบแพทย์
ข้อมูลจาก อาจาราย์ นายแพทย์รัฐพันธ์ ละมูล แผนกโลหิตวิทยา กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์