การเกิดอัมพาตนี้อาจทำให้คนไข้เสียชีวิต อยู่โรงพยาบาลนานขึ้น มีความพิการเรื้อรัง ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ช้า ระยะเวลาที่เกิดอาจเกิดในห้องผ่าตัด หรือในห้องผู้ป่วยอาการหนักหลังการผ่าตัดภายในสัปดาห์แรก โอกาสเกิดจะลดลงหลัง 30 วันแรกหลังผ่าตัดจนถึง 5 ปี ในขณะผ่าตัดลิ่มเลือดหรือไขมันที่เกาะที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่ชิดกับหัวใจหรือหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองใหญ่ (carotid artery) อาจหลุดออกเพราะการผ่าตัดอาจมีการหนีบ หรือใส่ท่อเข้าไปในหลอดเลือดแดงใหญ่
ในการผ่าตัดหัวใจแบบใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม แต่ว่าการผ่าตัดแบบไม่ใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมก็อาจเกิดการหลุดของเศษไขมันในผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ การตรวจด้วยเครื่องสะท้อนคลื่นเสียงเพื่อค้นหาตำแหน่งที่มีไขมันมาเกาะที่ผนังและหลีกเลี่ยงพื้นที่บริเวณนั้นจะลดการเกิดอัมพาตขณะผ่าตัดได้ ในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัดสาเหตุการเกิดอัมพาตที่พบได้บ่อยคือ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation ที่อาจพบได้ถึง 30 % หลังการผ่าตัดหัวใจ มักเป็นชั่วคราวในระยะ 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด แพทย์รักษาโดยรักษาภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำซึ่งพบได้หลังการผ่าตัดหัวใจ เช่น โปตัสเซียมต่ำ แคลเซียมต่ำเป็นต้น และให้ยากลุ่ม amiodarone เพื่อแก้ไขให้หัวใจกลับมาเต้นจังหวะปกติ แต่ถ้าเป็นอยู่นานเกิน 2-3 วันแพทย์จะพิจารณาให้ยากลุ่มป้องกันการแข็งตัวของเลือดเช่น warfarin หรือ NOAC เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องซ้ายบนและห้องขวาบน หลังสัปดาห์แรกการเกิดอัมพาตก็อาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีก แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่พบได้น้อยเช่นมีลิ่มเลือดเกาะติดผนังหัวใจห้องซ้ายล่างที่เป็นแผลเป็นจากที่เคยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน ดังจะยกตัวอย่างในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
เพศหญิงอายุ 72 ปี มาโรงพยาบาลเพราะว่าคลำได้ก้อนเต้นได้ในท้องรอบๆ สะดือ แพทย์ตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบหลอดเลือดแดงใหญ่ในท้องส่วนต่ำกว่าหลอดเลือดไตโป่งพองเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.5 เซนติเมตร และยังพบว่าหลอดเลือดแดง common iliac โป่งพองทั้งสองข้าง คนไข้มีข้อบ่งชี้ในการรักษาแม้ว่ายังไม่มีอาการปวดท้อง การตรวจด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ พบว่าเส้นเลือดหัวใจขวาตัน และเส้นซ้ายตีบทั้งสองเส้น ทำให้การรักษาควรเน้นเรื่องหัวใจก่อน ได้ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ 3 เส้น การผ่าตัดไม่มีปัญหาแทรกซ้อน คนไข้ฟื้นตัวดี แต่ขอกลับบ้านก่อนแล้วจะรักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองในท้องภายหลัง 1 สัปดาห์ หลังจากคนไข้ออกจากโรงพยาบาลมีอาการปวดศีรษะทันที และแขนขาข้างขวาอ่อนแรง จึงมาโรงพยาบาล ตรวจพบแขนขาขวาอ่อนแรง ขยับเองไม่ได้ ผู้ป่วยรู้ตัว ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบสมองใหญ่ด้านซ้ายขาดเลือด ผู้ป่วยหัวใจเต้นจังหวะปกติ ได้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในหัวใจห้องซ้ายล่างตำแหน่งที่เป็นแผลเป็นจากการตายของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นผลจากอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเดิมก่อนผ่าตัดหัวใจตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไม่พบลิ่มเลือด การรักษาหลังจากที่แน่ใจว่าไม่มีเลือดออกในสมองคือการให้ยากลุ่มทำให้เลือดแข็งตัวช้าทำให้ลิ่มเลือดในหัวใจค่อยๆเล็กลงและไม่เป็นใหม่อีก ลดโอกาสที่ลิ่มเลือดหลุดไปอุดหลอดเลือดแดงของสมองและส่วนอื่นของร่างกาย อาการอ่อนแรงของคนไข้ค่อย ๆ ดีขึ้นและสามารถทำกายภาพบำบัดและกลับออกจากโรงพยาบาลได้
ข้อมูลจาก รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอก หลอดเลือดและหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 และ 2 / www.phyathai.com
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์