ภาพวาด “The Starry Night” ผลงานชิ้นเอกจากปีค.ศ. 1889 ของจิตรกรชาวดัตช์ “วินเซนต์ แวนโกะห์” เป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ความเลิศเลอในเชิงศิลปะของภาพนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบคุณค่าเพิ่มเติมในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับภาพวาดภาพนี้
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซียะเหมินของจีนพบว่าภาพ The Starry Night มีความสอดคล้องกับหลักการทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าอย่างน่าทึ่ง รวมทั้งมีร่องรอยที่บ่งชี้ได้ว่า ความคิดของแวนโกะห์ก้าวล้ำหน้านักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยของเขาเป็นอย่างมาก
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าฝีแปรงที่ทรงพลังของแวนโกะห์คือการถ่ายทอดภาพของลมหมุนหรือกระแสอากาศที่ปั่นป่วน (Turbulence) ในท้องฟ้าซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นอกจากนี้ ตามประวัติของเขาที่รวบรวมไว้บนเว็บไซต์ Artnet ยังระบุว่า เขาวาดภาพนี้ในเวลากลางวันภายในห้องทำงานที่ไม่มีแม้แต่หน้าต่างสักบาน
ผลงานวิจัยของพวกเขาที่เผยแพร่ในวารสาร Physics of Fluids เมื่อไม่นานมานี้ ได้ชี้ให้เห็นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “กระแสอากาศปั่นป่วนที่ซ่อนอยู่” ในภาพวาดดังหลายจุด
ดูเหมือนว่าแวนโกะห์จะสะท้อนภาพ “พลศาสตร์ของไหล” (Fluid Dynamics) หรือการเคลื่อนที่ของของไหล (เช่น ของเหลว, ก๊าซ) ที่ยังไม่มีใครค้นพบในตอนนั้น และต้องรอจนถึงอีกเกือบ 100 ปีต่อมา วงการวิทยาศาสตร์ถึงเริ่มสนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้
หวงหย่งเซียง หนึ่งในทีมนักวิจัยของกรณีศึกษาครั้งนี้ชี้ว่า มาตราส่วนของฝีแปรงในแต่ละสีมีบทบาทสำคัญมาก เมื่อนำภาพไปตรวจสอบโดยทำให้เป็นภาพดิจิทัลที่มีความละเอียดสูง พวกเขาจึงสามารถวัดขนาดของแต่ละฝีแปรงได้อย่างแม่นยำ จากนั้นก็นำไปเปรียบเทียบกับมาตราส่วนที่คิดคำนวณคาดจากการใช้ทฤษฎีว่าด้วยกระแสอากาศปั่นป่วน
นอกจากนี้แล้ว ยังมีผลงานวิจัยอีกฉบับจากปี 2562 ชี้ว่า แวนโกะห์ไม่เพียงถ่ายทอดภาพของกระแสลมหมุนในชั้นบรรยากาศของโลก แต่ยังรวมถึงตำแหน่งดวงดาวที่อยู่ห่างออกไปหลายปีแสงได้อีกด้วย
ทีมวิจัยชุดล่าสุดนั้นทำการสำรวจฝีแปรงในภาพที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เช่น ใบไม้ที่ขยับไหวเพราะแรงลม เพื่อจำแนกสภาพบรรยากาศ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบองค์ประกอบเกี่ยวกับระดับความสว่างของสีในจุดต่าง ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับพลังในการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ได้มากที่สุดจากภาพวาดผ่านการทดลองต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นรูปทรงกลมหมุนวนในห้องฟ้าทั้ง 14 จุดในภาพวาด The Starry Night ก็คือ แวนโกะห์สามารถรับรู้เคลื่อนไหวของพลังบนผืนดินและท้องฟ้าตามธรรมชาติได้อย่างน่าพิศวง เผยให้เห็นว่าเขามีความเข้าใจที่ลึกซึ้งตามสัญชาตญาณเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
ภาพวาดของเขาอาจเกิดขึ้นจากการศึกษาการเคลื่อนไหวของเมฆและชั้นบรรยากาศ หรืออาจเป็นเพราะตัวเขาเองมีความสามารถในการรับรู้และสัมผัสพลังแห่งการเคลื่อนไหวบนท้องฟ้า
ทีมวิจัยพบว่าองค์ประกอบของภาพวาดที่มีชื่อเสียงภาพนี้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวจริงของพลังงานในชั้นบรรยากาศ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่ากฎของโคลโมโกรอฟ และเป็นทฤษฎีที่คิดขึ้นในปีค.ศ. 1940 โดยอันเดรย์ โคลโมโกรอฟ บิดาแห่งทฤษฎีความน่าจะเป็นสมัยใหม่
จากมุมมองทางวิชาการ ภาพวาดนี้สะท้อนถึงจุดส่องสว่างที่กระจายตัวไปทั่วภาพพร้อมกับร่องรอยสุดละเอียดอ่อนของกระแสลมที่กำลังปั่นป่วนในท้องฟ้า และยังทำให้ต้องหันกลับไปพิจารณาเสียใหม่ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา วงการวิทยาศาสตร์มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกระแสไหลเวียนของอากาศและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติอย่างไรบ้าง
ที่มา : nypost.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, Yinxiang Ma/Xiamen University