การฟื้นฟูพื้นที่-อาคารบ้านเรือนนั้น ทั้งต้องใช้กำลังทรัพย์ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ที่ก็ “จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือ” เช่นเดียวกับช่วงน้ำท่วม…

เพื่อให้ดำเนินการฟื้นฟูได้รวดเร็ว

และก็ “ต้องฟื้นฟูอย่างปลอดภัยด้วย

ทั้งนี้ กับการฟื้นฟูซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนเมื่อน้ำลดหรือเมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ ซึ่งเป็น ข้อมูลที่น่าสนใจทั้งกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมและผู้ที่จะเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูโดยมีข้อมูลคำแนะนำไว้โดย ศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดทำ “คู่มือฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ฉบับสามัญประจำบ้าน”ไว้เพื่อให้ใช้เป็นแนวทาง ซึ่งแม้น้ำท่วมจะลดลงสู่ภาวะปกติแล้วแต่เจ้าของอาคารบ้านเรือนก็ยังไม่สามารถเข้าใช้งานตามปกติได้ทันที ซึ่งเพื่อความปลอดภัย ไม่เพียงต้องมีการทำความสะอาด…

ต้อง “ตรวจเช็กซ่อมแซมก่อน” ด้วย!!

ศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร

ในคู่มือดังกล่าว ศ.ดร.อรรจน์ ให้แนวทางเรื่องนี้ไว้ว่า…เพื่อให้บ้านหรืออาคารที่ถูกน้ำท่วมมีความพร้อมกลับมาใช้งานภายหลังจากน้ำลด ควรจะต้องมีการวางแผนในการตรวจสอบ และซ่อมแซมอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะลดปริมาณงานที่ต้องทำ รวมถึงลดระยะเวลาที่ต้องเสียไป โดยการวางแผนตรวจสอบ ซ่อมแซม ในจุดต่าง ๆ นั้น มีคำแนะนำดังนี้คือ…

รอบตัวบ้านอาคาร” เช่น พื้นถนน หากถูกน้ำท่วมด้วยมวลน้ำในระดับสูง ก็ย่อมถูกกดทับด้วยมวลน้ำมหาศาล ทำให้ถูกน้ำหนักกดทับเอาไว้มาก และภายหลังน้ำลดอาจเกิดการทรุดตัว โดยอาจมีรอยแตกร้าวให้เห็น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการลดลงของน้ำด้วยว่า…ลดลงแบบรวดเร็ว หรือเป็นแบบค่อย ๆ ลด ซึ่งถ้าเป็นการลดลงรวดเร็ว ก็มักจะเกิดความเสียหายได้มากที่สุด นอกจากนี้ ต้องสำรวจอีกว่า…การแตกร้าวที่อาจพบนั้น เป็นแค่พื้นผิว หรือโครงสร้างพื้น ซึ่งถ้าเป็นแค่พื้นผิวการซ่อมแซมก็จะทำง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นโครงสร้างพื้น ต้องระวังการทรุดตัว กับอีกจุดคือ กำแพง ซึ่งเป็นอีกจุดภายนอกอาคารบ้านเรือนที่อาจเสียหายจากแรงดันน้ำ ต้องตรวจสอบว่าเอนเอียงผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ เพื่อป้องกันการล้มพังลงมาภายหลัง…

อาจเป็นอันตรายภายหลังจากน้ำลด!!

จุดต่อมา ได้แก่ ผนังบ้าน ที่เป็นอีกจุดหนึ่งที่อาจจะต้องรีบดำเนินการทันที เพราะรอยคราบน้ำท่วมจะติดทนต่อไปอีกนานหากไม่รีบทำความสะอาด ซึ่งหากน้ำท่วมไม่นานการล้างขัดออกสามารถทำได้ง่าย แต่กรณีที่รอยคราบมีสารเจือปน มีสีเข้มสกปรก อาจต้องขัดสีออกแล้วทาสีทับใหม่ โดยมีจุดพิจารณาดังนี้… การทาสีใหม่ ต้องมั่นใจว่าผนังแห้งสนิท มิฉะนั้นเมื่อทาสีแล้วสีก็จะไม่ติดและหลุดร่อนภายหลัง ซึ่งการทิ้งผนังให้แห้งอาจต้องใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ และอีกข้อคือ เชื้อรา ที่อาจต้อง ทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือคลอรีนก่อนทาสีใหม่ รวมถึงอาจผสมน้ำยาฆ่าปลวกด้วย เพราะใน 1 เดือนหลังน้ำลด ปลวกมักจะเริ่มเข้ามาทำรังใต้พื้นดิน นอกจากนี้ หลังน้ำลด ควรตรวจสอบว่ามีสัตว์มีพิษใด ๆ เข้ามาหลบอยู่หรือไม่

ต้องตรวจสอบ “ป้องกันอันตราย” ด้วย

ระบบไฟฟ้า” นี่ก็เป็นส่วนสำคัญ และเกี่ยวพันกับความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งก่อนเข้าไปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า…ไม่มีน้ำขังปลั๊กไฟ หากไม่ได้สับสะพานไฟก่อนอพยพออกมาก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง ซึ่ง เมื่อเข้าไปในบ้านหลังน้ำลดต้องสับสะพานไฟปิดลงทุกครั้งก่อนเข้าตรวจสอบเมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยจริง ๆ แล้วจึงค่อยดำเนินการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า

ระบบประปา” ถ้ามีถังเก็บน้ำ ในช่วงน้ำท่วมอาจจะมีน้ำเสียไหลเข้าไปในถังเก็บน้ำ จึง ควรถ่ายน้ำในถังเก็บน้ำออกทิ้งไปให้หมด แล้วทำความสะอาดด้วยคลอรีน รวมถึงควรเปิดน้ำออกจากระบบท่อทิ้งไปให้หมด ส่วนเครื่องปั๊มน้ำ ควรทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนจะเปิดใช้เครื่อง เพราะหากเครื่องยังไม่แห้ง อาจทำให้วงจรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เสียหายได้

ระบบส้วม” นี่ก็อาจต้องฟื้นฟู แบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ในระบบส้วมมักจะตายไปในช่วงที่น้ำท่วม ทำให้พบปัญหาหลังน้ำลด… ราดส้วมไม่ค่อยลง วิธีแก้ปัญหาคือนำเอนไซม์หรือจุลินทรีย์มาเทใส่ส้วม แล้วทิ้งไว้ 2-3 วันก่อนจะใช้งาน

เครื่องปรับอากาศ” ควรทำความสะอาดแผ่นกรองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วตากให้แห้ง ก่อนนำมาติดตั้งใหม่ และ ควรเรียกช่างมาเช็กระบบต่าง ๆ ให้แน่ใจว่าระบบและส่วนต่าง ๆ ของเครื่องปรับอากาศยังทำงานได้ตามปกติ ด้วย

เหล่านี้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับอาคารบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงผู้ที่จะเข้าช่วยเหลือฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำท่วมผ่านไปก็มักจะมี “อีกปัญหาใหญ่”ที่ผู้ประสบภัยต้องเจอ คือ “ขาดแคลนช่างซ่อม” ดังนั้น ช่วงแรก ๆ อาจต้องช่วยเหลือตนเองไปก่อนในสิ่งที่พอทำได้ และก็ มีคำแนะนำคือรวมกลุ่มเพื่อนบ้านหาช่างมาซ่อมแซมพร้อมกัน จะทำให้ช่างอยากมาเพราะไม่เสียเวลาไปมาหลายรอบและก็ยังมีข้อดีคือ ช่วยให้ต่อรองราคาได้ถูกลง ด้วย …นี่ก็เป็นอีกแนวทางน่าสนใจที่ .ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แนะนำไว้ในคู่มือ

ฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน” นี่ก็ “งานหิน”

ภาระใหญ่” นี้ “ช่วยได้ก็ช่วยกันด้วย”

และ “ช่วยตามคู่มือฟื้นฟูก็ย่อมจะดี”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์