เมื่อใดที่มีคนมากขึ้น ผู้คนในนั้นก็มักจะรู้สึกรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยลง ซึ่งการล่าแม่มดในสื่อสังคมออนไลน์ก็เช่นกัน”…เนื้อความข้างต้นนี้เป็นบางส่วนจาก “ทฤษฎีการกระจายความรับผิดชอบ (diffusion of responsibility)” และเป็นส่วนหนึ่งจากการสะท้อนไว้ผ่านบทความ “ในโลกออนไลน์…ทำไมเราถึงใจร้ายกับคนไม่รู้จัก?”โดย รวิตา ระย้านิล นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการเผยแพร่อยู่ทาง www.psy.chula.ac.th

ข้อมูลนี้ “ตอบปุจฉา” กรณี “ทัวร์ลง”

กรณีที่เป็น “ปรากฏการณ์ออนไลน์”

ในระดับที่ถึงขึ้น “ใจร้ายออนไลน์??”

กับปรากฏการณ์ “รุมวิพากษ์วิจารณ์” ในโลกออนไลน์ ในโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกกันว่า“ทัวร์ลง” นั้น แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าแปลกใจ มีทั้งคนทั่วไปและคนดังถูกทัวร์ลงกันแล้วมากมาย อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้กรณีรัก ๆ เลิก ๆ ของคนดังแวดวงบันเทิงบางคนก็มีทัวร์ลงอื้ออึง อย่างไรก็ตาม มองในภาพรวม ๆ กรณีทั่ว ๆ ไปไม่เฉพาะเจาะจงใคร ในบรรดาลูกทัวร์ที่ลงวิพากษ์ผู้อื่นนั้นนับวันก็ดูจะมีรายที่ชวนสะกิดใจหรือทำให้เกิดคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า… “แรงเกินเหตุไปหรือเปล่า??” หรือ “ใจร้ายเกินไปหรือไม่??” ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเพื่อย้ำให้ลองพินิจกันเน้น ๆ อีกครั้ง…

ทั้งนี้ กับเรื่องนี้ในบทความ “ในโลกออนไลน์…ทำไมเราถึงใจร้ายกับคนไม่รู้จัก?” ทางนักจิตวิทยาได้ระบุไว้ หลักใหญ่ใจความมีว่า…คนท่องโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดก็ตาม น่าจะรู้สึกเหมือนกันว่า…คนยุคนี้มักพูดจาหรือพิมพ์ถึงกันโดยรักษาน้ำใจน้อยลง ซึ่งต่างจากเวลาที่สนทนาแบบเจอหน้ากัน ที่โดยทั่วไปจะพยายามรักษามารยาท หรือเกรงใจเวลาที่จะพูดอะไร โดยเฉพาะ “กับคนไม่รู้จัก”แต่… ในโลกออนไลน์ดูจะต่างจากโลกจริงโดยในโลกออนไลน์มักจะใจร้ายกันง่าย!!”

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้…ทาง รวิตา นักจิตวิทยา ยังได้ระบุไว้ว่า… สิ่งที่น่าสนใจกรณีโลกออนไลน์คือมีการ ใช้ถ้อยคำร้ายแรงเชือดเฉือน หรือตัดสินถูกผิดก่อนที่จะทราบข้อมูลจริงกันอย่างง่าย ๆ ทั้งที่มีกฎหมายหมิ่นประมาท มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และก็เกิดกรณีตัวอย่างอยู่เรื่อย ๆ ทว่าในภาพรวมก็ไม่สามารถหยุดยั้งการ “ทำร้ายด้วยถ้อยตำ” ในโลกออนไลน์หรือในโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งเรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจมีปัจจัยจากเรื่อง “ความเป็นนิรนาม (anonymity)” ในโลกออนไลน์ ที่เอื้อต่อการ กระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าวทางไซเบอร์ เพราะผู้คอมเมนต์นั้น “ซ่อนตัวตนอยู่ใต้ชื่อหรือรูปภาพอื่น” ได้ ซึ่งทำให้…

กล้า” ที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

สามารถ “แสดงพฤติกรรม” ได้เต็มที่!!

นักจิตวิทยาท่านดังกล่าวยังได้ระบุไว้อีกว่า… มีงานทดลองบางชิ้นที่พยายามหาคำตอบว่าคนเราจะเชื่อฟังผู้มีอำนาจจนถึงขั้นทำร้ายคนอื่นได้มากแค่ไหน? ที่มีผลทดลองพบว่า…การแยกเหยื่อไว้อีกห้อง โดย “มองไม่เห็นกัน” รับรู้ได้เพียงเสียงร้องของเหยื่อหรือเสียงที่เงียบไปของเหยื่อ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง มักเพิ่มระดับการทำร้ายมากกว่าในยามปกติ โดยผลทดลองนี้ก็สะท้อนว่า การ “ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในร้อยพันข้อความโจมตี” เป็นปัจจัยที่ “เอื้อให้เกิดการยกระดับความก้าวร้าว” เพิ่มขึ้น ซึ่งยิ่งมีแอคเคาท์แสดงข้อความทางลบมากเท่าไร ข้อความรุนแรงก็ยิ่งปรากฏเพิ่มขึ้น!!…

เมื่อมีตัวเปิด และมีคนตามจำนวนมาก ความรับผิดชอบต่อถ้อยคำทางลบก็จะยิ่งหารกัน ทำให้การยับยั้งไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลก็เกิดขึ้นน้อยลง”…นี่เป็นไปตาม “ทฤษฎีการกระจายความรับผิดชอบ” หรือ diffusion of responsibilityและก็เป็นการอธิบายถึง “ปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่ถึงขั้นใจร้าย” ที่เกิดขึ้นโดย “มีปัจจัยกระตุ้น” ทำให้…

ร้ายตามกระแสสังคมกันได้ง่าย ๆ”

ทั้งนี้ ในบทความโดยนักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังระบุไว้ว่า… โลกออนไลน์” ซึ่งเป็น “พื้นที่เปิด” ทำให้ผู้คนมีอิสระในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้ง่าย จุดเด่นนี้กลายเป็น “ดาบ 2 คม” และก็เป็น “ความท้าทายในสังคมยุคใหม่” ว่า… จะใช้อิสระอย่างไรไม่ให้ละเมิดหรือกระทบผู้อื่นเกินไป?? ซึ่งแม้ตัวตนในโลกเสมือนอาจไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของคน ๆ หนึ่ง แต่ความรู้สึก-ความเจ็บปวดที่ได้รับกลับไม่ได้น้อยไปกว่าโลกจริง โดย “ข้อความที่ได้อ่านเสียงที่ได้ยิน” ก็สามารถ ทำให้เกิดแผลบาดลึกสร้างรอยแผลใจให้คน ๆ หนึ่งได้ เช่นกัน ดังนั้น จำเป็นต้องฝึกให้มีสติระลึกรู้ตัวกันมากขึ้น “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มากขึ้น ต้องระลึกว่าสิ่งที่แสดงออกไปนั้นถูกต้องหรือไม่?…ผู้รับจะรู้สึกเช่นไร?…

และฝึกทอดเวลาให้อารมณ์ความรู้สึกจางลง …นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่นักจิตวิทยาและผู้มีประสบการณ์ในโลกไซเบอร์แนะนำไว้ ซึ่งเมื่อสมองส่วนอารมณ์ผ่อนลง สมองส่วนเหตุผลก็จะทำหน้าที่ได้ดีขึ้น จะทำให้เกิดความเป็นกลางต่อเรื่องราว และต่อท่าทีของตนเองด้วย โดย การรอให้ตนเองได้ตกตะกอน หรือรอให้ได้ข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ย่อมดีกว่าปล่อยความรู้สึกนึกคิดไปกับความวู่วามอคติที่ครอบงำ หรือถ้าต้องการใช้พื้นที่สื่อโซเชียลเป็นช่องทางระบายอารมณ์ความรู้สึก ก็ยังทำได้โดยพิมพ์ข้อความลงไปแล้วเลือกเผยแพร่เฉพาะตัวเองแทนการโพสต์สู่สาธารณะทันที…ที่ก็อาจช่วย “ลดความใจร้าย” ลงได้…

โซเชียลใจร้าย” นี่ “ไทยแรงไม่แผ่ว”

มีการ “รุมล่าแม่มด” กัน “เต็มสปีด”

บางคนก็ “เจอทัวร์ย้อนศร…เละ!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์