โอกาสหนีเที่ยวแล้วหายตัวน้อย รวมถึงมีสภาพการอยู่อาศัยบนอาคารมากกว่าบ้านเรือนในพื้นที่ชุมชนเมือง
แต่ทว่าการเลี้ยงกระต่ายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความใส่ใจและศึกษาข้อมูล เพราะเมื่อเลี้ยงแล้วเราต้องรับผิดชอบชีวิตเขาตลอดอายุไข ดังนั้นเพื่อความสุข ความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีให้กับพวกเขาได้ ก่อนตัดสินใจเลี้ยงกระต่ายอย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน พฤติกรรมและความต้องการของกระต่าย เลือกสายพันธุ์ รู้พฤติกรรม เตรียมอุปกรณ์ คำนวณค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ ให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม เรื่องควรรู้เลยคือน้องกระต่ายเป็นสัตว์ที่เครียดง่ายมาก พบได้บ่อย โดยที่บางครั้งเจ้าของเองยังไม่ทราบทั้งนี้ภาวะนี้จะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
สาเหตุของความเครียดมาได้จากหลายปัจจัย คือ น้องเจ็บปวดรุนแรง หรือความเจ็บป่วย เช่น ปวดท้อง ขาหัก หรือปวดฟัน สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย เช่น การขนส่งและการเดินทาง การจับบังคับที่ไม่ถูกวิธี การถูกรบกวนโดยสัตว์ที่ดุร้าย หรือไม่เป็นมิตร เช่น สุนัข แมว สัตว์นักล่าอื่น ๆ เช่น เหยี่ยวและคน กระต่ายจ่าฝูง หรือกระต่ายที่ไม่ชอบถูกขัง-บังคับ การขัดขวางกิจกรรมตามธรรมชาติ เช่น การทำรัง การคลอด เป็นต้น การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกหลัก เช่น ให้อาหารและน้ำอย่างไม่เพียงพอ อาหารไฟเบอร์ต่ำหรือย่อยยาก อุณหภูมิและสภาพอากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป
เมื่อกระต่ายเกิดความเครียดแล้ว อาการที่แสดงให้เห็นขึ้นอยู่กับสภาพหรือระบบในร่างกายที่เสียหาย เช่น กระต่ายบางตัวแสดงอาการท้องอืด ลำไส้ไม่ทำงาน ซึม หายใจแรง ไม่กินอาหาร มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ก้าวร้าว หรือซึมเศร้า เป็นต้น โดยส่วนมากอาการเริ่มต้นมักจะพบเป็นแบบสำไส้ไม่ทำงาน กระต่ายเริ่มไม่กินอาหาร กัดฟัน ตามมาด้วยอาการถ่ายน้อยลง ถ่ายเป็นเมือกจนนอนแย่ลง ไม่มีแรงแต่จะอันตรายถึงชีวิตของน้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นด้วย ถ้าเจ้าของสังเกตเห็นอาการเร็ว แล้วแก้ไขสาเหตุหรือบรรเทาความเครียดนั้น ๆ กระต่ายน้อยของเราก็จะกลับมาปกติได้เร็วขึ้น เมื่อพากระต่ายมาพบหมอ อันดับแรกหมอคงต้องหาสาเหตุของความเครียดนั้น ๆก่อนซึ่งได้จากประวัติการเลี้ยงดู ชนิดอาหาร การปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านของเจ้าของแล้วค่อยปรับแก้ไขตามสภาพอาการและสาเหตุ
สำหรับวิธีในการลดความเครียดนั้น เบื้องต้นเจ้าของสามารถทำได้ หากมีสาเหตุมาจากความเจ็บปวดจะใช้ยาแก้ปวดและให้กระต่ายอยู่ในที่เงียบ ๆ ห่างจากเสียงดัง และจับบังคับกระต่ายอย่างนิ่มนวลซึ่งจะช่วยได้มาก หรืออาจให้ยาซึมหรือยานอนหลับ ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ด้วย
ถ้ากระต่ายเพิ่งผ่าตัดมา อาจใช้ผ้าที่เคยนอนประจำหรือฟางปูเป็นที่รองนอนระยะหนึ่ง เพื่อให้มีกลิ่นที่กระต่ายคุ้นเคยดีทำให้รู้สึกปลอดภัย นอกจากนั้นแล้วให้หลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่จะส่งผลให้กระต่ายเครียด เช่น ปลอกคอกันแทะ (Collar) ในกรณีที่เกิดภาวะท้องอืดหรือกระต่ายป่วยมาก การรักษาจะเป็นไปตามอาการของภาวะนั้น ๆ เช่น ให้น้ำเกลือต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรืออาจต้องตรวจเลือดเช็กค่าตับและค่าไต
หากกระต่ายเกิดความเครียดแล้วระบบร่างกายต่าง ๆ ได้รับผลกระทบรุนแรง การรักษาให้น้องหายปกติจะทำได้ยาก ดังนั้นเจ้าของผู้เลี้ยงจะต้องคอยสังเกตอาการทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เพิ่งนำกระต่ายมาเลี้ยงใหม่ ๆ การย้ายบ้าน หลังการรักษาใหญ่ การฟื้นตัวจากยาสลบหลังผ่าตัด
ขอขอบคุณข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ความรู้หน่วยสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน.