“สหพันธ์กีฬาซีเกมส์” ขีดเส้นตายให้ “เวียดนาม” เจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้ ที่กรุงฮานอย ต้องให้คำตอบแล้วว่าสุดท้ายแล้ว พวกเขาจะเป็นเจ้าภาการแข่งขันได้หรือไม่

เพราะตอนนี้เวลาได้ล่วงเลยนานมากแล้ว

ก่อนหน้านี้ เวียดนาม ได้พยายามยื้อซื้อเวลามาตลอด พร้อมต่อรองกับชาติสมาชิกอาเซียน ขอให้เลื่อนไปเป็นปีหน้า

ซึ่งคำตอบที่ได้จากคณะมนตรีซีเกมส์ คือ “ไม่ได้” เพราะว่าในปีหน้ามีคิวแข่งขันกีฬานานาชาติ ที่ลงล็อกหมดแล้วมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาเชียลอาร์ทเกมส์ 10-20 มี.ค. ที่ไทย, คอมมอนเวลต์เกมส์ ที่อังกฤษ 28 ก.ค.-8 ส.ค. ซึ่ง มาเลเซีย กับ สิงคโปร์ จะไปแแข่งขัน, อิสลามิกโซลิดาริตี้เกมส์ ที่ตุรกี 9 ส.ค.-18 ส.ค. ซึ่ง อินโดนีเซีย, บรูไน, มาเลเซีย จะไปแข่งขัน, เอเชี่ยนเกมส์ ที่จีน 10-25 ก.ย. รวมทั้งโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว ที่ปักกิ่ง จีน อีกด้วย

ถ้าไฟเขียวให้ เวียดนาม สับหว่างไปจัดในปีต่อไป ก็จะไปกระทบกับ กัมพูชา ที่มีคิวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ในปีนั้นด้วย ซึ่งกัมพูชาก็ไม่ยอมเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดหนักไปทั่วโลกระลอกแล้วระลอกเล่า ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาติที่จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายทัวร์นาเม้นต์ที่ต้องเลื่อนหรือส่อยกเลิกมาแล้ว

เวียดนาม ก็เช่นเดียวกัน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินหน้าซีเกมส์ 2022 ต่อ ภายในห้วงเวลาที่จำกัดเช่นนี้ เพราะนอกจากเรื่องของไวรัสมรณะแล้ว เรื่องของ “งบประมาณ” ที่ต้องใช้จำนวนไม่น้อย ก็ยังเป็นเหตุผลหลัก ที่รัฐบาลของพวกเขาต้องคิดหนัก

อย่าลืมว่า เวียดนาม เอง เคยยกเลือกจัดเอเชี่ยนเกมส์ มาแล้ว เพราะมีปัญหาด้านงบประมาณจน โอซีเอ ต้องปวดหัวกับการหาเจ้าภาพจัดแทนมาแล้ว

นอกจากนี้การเสียชีวิตของ ดร.ฮว่าง ติ่ง ซาง รองประธานโอลิมปิกเวียดนาม ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันการจัดซีเกมส์ครั้งนี้ แถมยังเป็นตัวกลางในการต่อรองกับรัฐบาล เพื่อสานต่อซีเกมส์ ก็เพิ่งเสียชีวิตไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อโปรเจ็กต์ใหญ่ของเวียดนามตามไปด้วย

ดังนั้นโอกาสที่ “ฮานอยเกมส์ 2022” จะได้ไปต่อตามไทม์มิ่งที่วางไว้ จึงน่าจะเป็น “ศูนย์” เลยก็ว่าได้

จากซีเกมส์ 2022 กลับมามองที่ศึกเอเชี่ยนอินดอร์และมาเชียลอาร์ทเกมส์ ที่กรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี จะเป็นเจ้าภาพระหว่าง 10-20 มี.ค.65 กันบ้าง

ซึ่งเดิมที “แบงค็อก-ชลบุรีเกมส์” จะจัดขึ้นในปีนี้ แต่ผลจากไวรัสโควิด ทำให้เราต้องเลื่อนไปในปีหน้า

ตอนนี้แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นบ้าง (ในความคิดของบางคน) แต่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้ และไม่มีใครตอบได้ว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง

หัวเรือใหญ่ในวงการกีฬา ไล่ตั้งแต่ รัฐมนตรี ผู้ว่าการ กกท. หรือโอลิมปิคไทยเอง จะยืนยันว่าเดินหน้าต่อได้แน่ พร้อมชูมาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ โดยเฉพาะระบบ “บับเบิล” ที่ใช้ได้ผลดีในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว มาเป็นต้นแบบ แต่ใครจะกล้าการันตีผล

ประเด็นสำคัญที่ไทย ตกอยู่ในหัวอกเดียวกับเวียดนาม ก็คือ “งบประมาณ” ที่ต้องใช้เป็นพันๆ ล้านบาท

รัฐบาลประยุทธ์ จะตอบคำถามประชาชนอย่างไร หากต้องใช้งบจำนวนมากจัดกีฬาครั้งนี้ เพราะในขณะที่คนไทย กำลังอดอยากปากแห้ง แถมเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บอยู่ในขณะนี้

ก็ย่อมมีคำถามตัวโตๆ ว่า นอกจากเรื่องของหน้าตาแล้ว เราจะได้อะไร คุ้มค่าแค่ไหนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในการจัดกีฬาใหญ่ครั้งนี้

## ศรีเชลียง ##