กลายเป็นเรื่องราวร้อนแรงทางการเมือง เมื่อ สว.รักษาการ 40 คน เข้าชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับ “คุณสมบัติ” ความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ควรสิ้นสุดหรือไม่ กรณีใช้อำนาจนายกฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ
ทีมข่าว Special Report จึงต้องคุยกับ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อสรุปในวันที่ 23 พ.ค.67 ว่าจะรับเรื่องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่
Special Report : ย้อนรอยกรณีถุงเงิน 2 ล้านบาท โผล่ในห้องเจ้าหน้าที่ธุรการศาล
รศ.ดร.ยุทธพร : กรณีของนายพิชิตเกิดขึ้นเมื่อปี 51-52 ผ่านมา 15 ปีแล้ว เป็นการละเมิดอำนาจศาล คือศาลมองอย่างนั้นจึงมีคำสั่งจำคุกออกมาก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นคดีทางแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา แต่คนที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นการติดคุกในคดีอาญา ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะนายพิชิตอยู่คนละจุดกับที่เจอถุงเงิน จึงไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่เคยต้องคำพิพากษาคดีอาญาในความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่หรือศาล
เนื่องจากคดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันใช้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ” ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด
นายพิชิตถูก “คำสั่งศาล” ถือเป็นวิธีสบัญญัติในทางแพ่ง เกี่ยวกับการพิจารณาของศาล ที่ให้อำนาจศาลในการดูแลความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งไม่ใช่การกระทำผิดทางอาญา ไม่ได้ถูกศาล “พิพากษา” แต่เนื่องจากเหตุเกิดบริเวณศาลฎีกา นายพิชิตจึงพูดมาโดยตลอดว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนกรณีอื่นๆ เพราะอุทธรณ์-ฎีกา ไม่ได้
Special Report : ความเป็นไปได้ในการเอาเงินไปวิ่งเต้นคดีให้อดีตนายกรัฐมนตรี
รศ.ดร.ยุทธพร : โดยสามัญสำนึก ถ้าอยากจ่ายเงินกันจริงๆ ไม่ต้องจ่ายกันแบบนั้นหรอก ไม่ต้องหิ้วเงินสดเข้าไปบริเวณศาลก็ได้ มีวิธีการจ่ายมากมายซึ่งไกลตัวด้วย แต่เมื่อเป็นคดีทางการเมือง มีบุคคลสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาจึงมาตกอยู่กับนายพิชิต ทั้งที่วันเกิดเหตุมีตัวละครมากกว่านี้
Special Report : แค่ “กฤษฎีกา-เลขาฯคณะรัฐมนตรี” เพียงพอหรือไม่ในการตรวจสอบคุณสมบัติคนที่จะเป็นรัฐมนตรี
รศ.ดร.ยุทธพร : แค่นี้พอแล้วครับ เพราะคุณสมบัติของคนเป็นรัฐมนตรี หรือคณะบุคคลทางการเมือง ต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ดังนั้นแค่กฤษฎีกา-เลขาฯคณะรัฐมนตรี ถือว่าเพียงพอในการตรวจสอบประวัติบุคคล เพราะสามารถสอบถามไปยังหน่วยงานอื่นได้ด้วย ก่อนเสนอชื่อบุคคลให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ
Special Report : เรื่อง “คุณสมบัติ” ควรถามศาลรัฐธรรมนูญก่อนตั้งเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
รศ.ดร.ยุทธพร : ถ้าต้องถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน ผมว่ายุ่งนะ! ภาพลักษณ์ของ “ตุลาการภิวัฒน์” จะลอยมาเลย เพราะประเทศไทยปกครองด้วย 3 อำนาจ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภา) ฝ่ายตุลาการ (ศาล) ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ดังนั้น 3 อำนาจนี้จึงไม่ควรก้าวล่วงกัน
Special Report : มองบทบาทของ สว. 40 คนในกรณีนี้
รศ.ดร.ยุทธพร : ผมมองว่าสว. ต้องทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ว่าอะไรควร หรือไม่ควร ในช่วงที่พ้นวาระการเป็นสว.ไปแล้ว ปัจจุบันเป็นสว.รักษาการ ผมจึงมองว่าไม่ควรทำเรื่องนี้ แต่เมื่อสว.รักษาการยังมาทำกับเหตุที่ไม่จำเป็นเลย มันยิ่งสะท้อนภาพว่าสว. เป็นกลไก และเป็นเครื่องมือการทำงานให้กับคนที่แต่งตั้งคุณเป็นสว.กันเข้ามา ดังนั้นสว. ควรทบทวนบทบาทตัวเอง
Special Report : ประเด็นที่สว. หยิบยกขึ้นมาคือเรื่องจริยธรรม-ซื่อสัตย์สุจริต
รศ.ดร.ยุทธพร : กรณีของนายพิชิตควรตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพราะเป็นเรื่องราวที่ผ่านมา 15 ปี ระยะเวลาถือว่านานมาก ดังนั้นจึงไม่ควรขุดเอาเรื่องคุณธรรมจริยธรรม มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่คุณธรรมและจริยธรรมควรใช้ระหว่างที่เขามีตำแหน่ง เขาเคยเป็นสส.บัญชีรายชื่อเมื่อปี 54-56 ก็ไม่เห็นมีใครไปร้องเรียนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เขาไม่เคยต้องคำพิพากษาในความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่หรือศาล
Special Report : อาจารย์มั่นใจเรื่องคุณสมบัติของนายพิชิต
รศ.ดร.ยุทธพร : ผมมั่นใจว่านายพิชิตมีคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี เพราะเขาถูก “คำสั่งศาล” ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง แล้วไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ก็น่าคิดว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา 15 ปีแล้ว ไม่ใช่การกระทำผิดทางอาญา ไม่เคยถูกศาล “พิพากษา” จำคุก
Special Report : วันที่ 23 พ.ค.นี้ แนวโน้มศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาออกมาในรูปแบบไหน
รศ.ดร.ยุทธพร : ผมมองว่ามี 2 ทาง คือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของสว. เพราะไม่เข้าข้อกฎหมาย 2.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของสว. โดยมีอีก 2 ทางแยกย่อย คือ 2.1 ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งนายกฯเศรษฐา และนายพิชิต และ 2.2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองคน หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะคนใดคนหนึ่งเท่านั้น