ทุกชนชาติบนโลกใบนี้ ล้วนต้องมีที่มาที่ไป มีปูมหลังก่อนจะก่อร่างสร้างตัวเป็นประเทศอย่างเช่นในปัจจุบันด้วยกันทั้งสิ้น
กาตาร์ เองก็มีประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของพวกเขาเช่นกัน…
ตามประวัติศาสตร์นั้น ชนชาติกาตาร์ดั้งเดิมเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนในทะเลทราย ก่อนจะมาลงหลักปักฐานบนพื้นที่คาบสมุทรซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศในปัจจุบัน ในช่วงกลางยุค 1760
ดั้งเดิมพวกเขาประกอบอาชีพประมงและหาไข่มุกเป็นหลัก โดยมีเรือพื้นเมืองที่ชื่อว่า “เรือโดว์” (Dhow) เป็นพาหนะพาพวกเขาออกทะเลหารายได้ ทำให้ชนชาติกาตาร์ กลายเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายไข่มุกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
อาชีพเก็บไข่มุก เป็นอาชีพหลักของชาวกาตาร์ เช่นเดียวกับการเป็นศูนย์กลางของการเพราะพันธุ์ม้าและอูฐ เรื่อยมาจนถึงยุคที่พวกเขาโดนปกครองโดยราชวงศ์บาห์เรนและอิหร่าน รวมถึงจักรวรรดิออตโตมัน (ประเทศตุรกี) ก่อนที่อังกฤษ จะยื่นมือเข้ามาแทรกแซงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ระหว่างนั้น กาตาร์ เริ่มค้นพบแหล่งน้ำมันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็นรายได้หลักของประเทศแทนอาชีพดั้งเดิมอย่างการประมงและการค้าไข่มุก ตั้งแต่ในช่วงยุค 1950 จนกระทั่ง อังกฤษ ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาปกครองกาตาร์เมื่อปี 1971 ทำให้ กาตาร์เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ และเดินหน้าทำรายได้จากกิจการน้ำมันอย่างเป็นกอบเป็นกำ
จนถึงปัจจุบัน กาตาร์ กลายเป็นประเทศมหาเศรษฐี มี GDP (ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรสูงเป็นอันดับ 6
อย่างไรก็ตาม กาตาร์ ยังคงมีความคิดในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีดั้งเดิมที่พวกเขาเคยเป็นมา อย่างในช่วงฟุตบอลโลก ที่หมู่บ้านวัฒนธรรมคาตารา (Katara Cultural Village) บนชายหาดคาตาร่า ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวดังในกรุงโดฮา ได้มีการจัดเทศกาลเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีดั้งเดิมของชนชาวกาตาร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อเรือโดว์ วิธีการเก็บไข่มุก อีกทั้งยังมีโชว์การร้องรำทำเพลงในยามว่างของชนชาวกาตาร์ในยุคโบราณ
ใครที่ได้มีโอกาสมาดู ก็คงได้เห็นถึงวิถีแบบชาวกาตาร์โบราณ ไม่ต่างจากเวลาชาวต่างชาติมาบ้านเราแล้วต้องดูมวยไทย รำไทย ดูโขน อะไรทำนองนั้น
สิ่งเหล่านี้ นอกจากมันจะแสดงถึงวัฒนธรรมของเราแล้ว มันยังถือเป็น “ราก” ที่ทำให้ยังคงมีความเป็นชาติมาจนถึงวันนี้
หากชนชาติใดหลงลืมหรือละเลย “ราก” ของตัวเองฉันใด ความเป็นชาติของชนชาตินั้น ก็มิอาจอยู่ยงได้อย่างยั่งยืนฉันนั้น
ผยองเดช