Carbon Polymerizing System ผลงานจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศของการแข่งขัน James Dyson Award ในปีนี้ โดยผลงานนี้คือระบบการผลิตพลาสติกชีวภาพจากคาร์บอนแบบอัตโนมัติ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอันเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากขยะอาหาร โดยทีมผู้คิดค้น Carbon Polymerizing System จะเป็นตัวแทนประเทศไทย พร้อมทีมรองชนะเลิศอีก 2 ทีม ในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป

Carbon Polymerizing System หรือ ระบบการผลิตพลาสติกชีวภาพจากคาร์บอนแบบอัตโนมัติ จะดักจับโมเลกุลคาร์บอนเพื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า PHB ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ทั่วไปจนถึงวัสดุทางการแพทย์ ระบบจะใช้แบคทีเรียเปลี่ยนคาร์บอนที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น น้ำเสียจากน้ำผลไม้ ชีวมวลผักและผลไม้ หรือแม้แต่ก๊าซเรือนกระจก ให้กลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและปลอดภัย โดยใช้ระยะเวลาย่อยสลายในดินประมาณ 2 สัปดาห์ ต่างกับพลาสติกชนิดอื่น ที่อาจใช้เวลาย่อยสลายในป่านานถึง 80 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดคาร์บอนที่เป็นอันตรายในอากาศ แต่ยังส่งผลให้วัสดุไม่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เป็นนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม

ระบบจะทำงานอัตโนมัติโดยใช้ระบบควบคุมแบบเรียลไทม์ หรือ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) เพื่อให้มั่นใจว่าการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะอาด ด้วยการจัดการกระบวนการทั้งหมดด้วยการติดตามผลแบบเรียลไทม์ จะช่วยลดของเสียและมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการผลิตที่ยั่งยืน แนวทางนี้ไม่เพียงแค่ลดการปล่อยคาร์บอน แต่ยังกำจัดคาร์บอนจากบรรยากาศมากกว่าที่ปล่อยออกมาอีกด้วย

สำหรับ ทีมผู้ออกแบบ Carbon Polymerizing System ประกอบด้วยสุเมธ กล่อมจิตเจริญ, สหรัถ ชวฤาชัย และกัลยพัชร์ พลอยประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมองเห็นถึงปริมาณคาร์บอนจำนวนมากที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศผ่านกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ทีมผู้ออกแบบจึงสร้างนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนขยะอาหารหรือแหล่งคาร์บอนอื่น ๆ ให้เป็นพลาสติกชีวภาพ 

ทีมผู้ออกแบบ Carbon Polymerizing System ซึ่งเป็นทีมผู้ชนะระดับประเทศในปีนี้ ได้รับเงินรางวัลจำนวน 224,000 บาท จาก James Dyson Award เพื่อเป็นทุนในการพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยในอนาคตมีแผนพัฒนาระบบติดตามการปล่อยคาร์บอน เพื่อเก็บข้อมูลปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการผลิต

สหรัถ ชวฤาชัย หนึ่งในสมาชิกทีมผู้ออกแบบ Carbon Polymerizing System กล่าวว่า การแข่งขัน James Dyson Award มอบโอกาสให้พวกเราได้นำเสนอนวัตกรรม ซึ่งพวกเราเชื่อว่ารางวัลนี้จะช่วยให้นวัตกรรม Carbon Polymerizing System เป็นที่รู้จักในตลาดและสร้างประโยชน์ให้กับโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ พวกเรายังอยากให้นวัตกรรมนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ หันมาสนใจใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในโลกของเราต่อไป