เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นายฐากูร ยะแสง สส.เชียงราย พรรคประชาชน (ปชน.) ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการเยียวยาและความช่วยเหลือจากรัฐบาล อันเนื่องมาจากเหตุอุทุกภัยและดินโคลนถล่มภาคเหนือ 

นายฐากูร กล่าวว่า อยากทราบว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนภาคเหนือที่ประสบอุทุกภัยอย่างไร จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อใด และเห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง จึงของฝากเป็นการบ้านให้รัฐบาลดูแลด้วย

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีชี้แจงแทน ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีงบประมาณ 3 ก้อนใหญ่ๆในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ประกอบด้วย 1.งบประมาณ 3,045 ล้านบาท ครอบคลุม 57 จังหวัดพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เบื้องต้นจะได้ที่ประมาณ 5,000-9,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทางรัฐบาลทราบดีว่าไม่เพียงพอ แต่เราจำเป็นต้องดูแลทุกคนอย่างทั่วถึง ฉะนั้นเบื้องต้นจะได้แบบปูพรม 5,000 บาท ในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้น มีแนวโน้มจะสามารถของดเว้นให้เป็นอัตรา 9,000 บาท ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า สำหรับขั้นตอนการรับเงิน จะเริ่มจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำจังหวัดประเมิน แล้วส่งมายังส่วนกลาง จากนั้นจะอนุมัติเงินจากกรมบัญชีกลางไปยังธนาคารออมสิน ขอให้ลืมกรอบการเยียวยาตามระเบียบราชการกำหนดว่าจะได้รับภายใน 90 วันไป เพราะในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยากลุ่มแรกคือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 

รมช.มหาดไทย กล่าวต่อว่า 2.กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากบ้านเสียหายทั้งหลัง ช่วยเหลือ 230,000 บาทต่อหลัง กรณีเสียชีวิต 50,000 บาท และ 3.เงินทดรองราชการที่ทุกจังหวัดมีอยู่ 20 ล้านบาท สามารถใช้จ่ายได้ทันที ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมแก่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย อีกจังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายนำไปใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนและเหตุฉุกเฉิน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเติมให้ที่ จ.พะเยา จ.ลำปาง จ.สุโขทัย ที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มอบเงินให้แก่กลุ่มเปราะบางด้วย 

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร เยียวยาข้าวไร่ละ 1,340 บาทนั้น เป็นเกณฑ์ปัจจุบัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระหว่างกรมบัญชีกลางกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับเป็นไร่ละ 2,200 บาท เป็นต้น จึงอยากฝากไปยังเกษตรกรช่วยปรับปรุงบัญชีการประกอบการด้วย เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป 

“เรามีมาตรการที่ครบและรอบด้าน ทั้งเรื่องฟื้นฟูสถานที่พื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นหมุนเวียนเศรษฐกิจ เช่น การปล่อยเงินดิจิทัลวอลเล็ต และการจ่ายเงินของเรา เป็นการจ่ายเงินแบบทั่วประเทศ เราเองไม่สามารถทำงานแบบพูด พูด พูด แต่ไม่ได้ทำ เราลงมือทำในพื้นที่จริงๆ ถ้าพูดอย่างเดียวแล้วไม่ทำ สถานการณ์คงไม่กลับมาได้โดยเร็ว ดิฉันอยากเห็นประชาชนมีกำลังใจที่ดี อยากเห็นข้าราชการทำงานโดยไม่มีแรงกดดันจากโซเชียล ทำงานหนักมากแต่โซเชียลไม่ได้เอาไปออกให้คนอื่นเห็นเลย แต่ขณะที่บางคนไม่ได้ทำอะไรเยอะ แต่โซเชียลเยอะทั่วประเทศไปหมด อันนี้เป็นการบั่นทอนจิตใจของผู้ทำงานหน้างานจริงๆ จึงอยากให้ท่านปรับแนวความคิดเสียใหม่ ว่าขณะนี้ทุกๆ หน่วยงานลงไปในพื้นที่จริงๆ” รมช.มหาดไทย กล่าว.