เมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 25 ก.ย.67ที่ผ่านมา นายบุษกร กันทุกข์ หรือ แอล พนักงานจ้างเหมาชั่วคราว หรือเจ้าหน้าที่ทีโออาร์ อุทยานฯ แก่งกระจาน ประจำจุดพะเนินทุ่ง ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ถ่ายภาพ ปรากฏการณ์แนวลำแสงประหลาด “แสงเขียว” ปรากฏบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ กจ.19 เขาพะเนินทุ่ง ท่ามกลางทะเลหมอก ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไว้ได้ สร้างความฮือฮาในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก

สุดมหัศจรรย์! กรมอุทยานฯ ไขข้อสงสัยปม ‘แสงเขียว’ เหนือพะเนินทุ่ง แก่งกระจาน

โดยปรากฏการณ์นี้ เวลาประมาณ 19.00 น. จะเริ่มปรากฏการณ์เป็นจุดแสง ทางทิศตะวันตกของเขาพะเนินทุ่ง มองด้วยตาเปล่าเห็นเป็นจุดแสงสีขาว แต่เมื่อใช้กล้องถ่ายจะเห็นว่ามีแสงสีเขียวอยู่ตรงกลางกลุ่มแสง แนวลำแสงจะมองเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ชัดที่สุดเวลาประมาณ 20.00-21.00 น. มองเห็นเป็นแนวยาว ซึ่งสามารถมองเห็นเป็นแสงสีเขียวได้ด้วยตาเปล่า เรื่อยไปจนถึงกลางดึก อย่างไรก็ตามเมื่อพระจันทร์ขึ้น ทำให้ท้องฟ้ามีแสงสว่างเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์แสงเขียวดังกล่าวจึงหายไป

ด้าน นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหัวหน้าชุดพญาเสือ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ลำแสงสีเขียวนี้ ถือเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกของปี 2567 หลังจากก่อนหน้านี้ เคยเกิดขึ้นและมีนักท่องเที่ยวบันทึกภาพได้เมื่อวันที่ 2 พ.ย.64 เมื่อวันที่ 1 ม.ค.65 และ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.66 ซึ่งทุกครั้งจะเกิดขึ้นช่วง ปลายฝนถึงต้นหนาว แต่ครั้งนี้เกิดปรากฏการณ์เร็วในเดือน ก.ย.67

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ยังไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจน ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือ เป็นแสงที่เกิดจากเรือไดหมึก อย่างไรก็ตามปกติการเกิดลำแสงนี้ มักจะเกิดในช่วงฤดูฝน ไปจนถึงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งปกติยังอยู่ในช่วงมรสุม และไม่น่ามีเรือไดหมึกออกทะเล ทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา ซึ่งปรากฏการณ์นี้ต้องรอการพิสูจน์จากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ภายหลังเกิดปรากฏการณ์นี้ในปี 2566 เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยยืนยันว่า แสงสีเขียวที่เขาพะเนินทุ่ง ไม่ใช่แสงออโรรา ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ออกมาระบุว่า ไม่ควรเรียกว่า “แสงเหนือ” ยันไม่มีทางเกิดขึ้นในประเทศไทยแน่

ขณะเดียวกัน สำหรับสาเหตุของปรากฏการณ์แสงเขียวพะเนินทุ่งดังกล่าว นักวิชาการบางส่วนก็คาดว่าจะเกิดจากการหักเหของแสงช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงมากระทบกับแนวก้อนเมฆที่ลอยเหนือยอดเขาตะนาวศรีที่มียอดเขาสูงประมาณ 1,200 เมตร และอยู่ในระดับเดียวกันกับเขาพะเนินทุ่ง ขณะเกิดเหตุยอดเขาพะเนินทุ่ง มีอุณหภูมิอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส แต่ต้นกำเนิดของแสงจะมาจากแสงธรรมชาติ หรือแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น ขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้.